posttoday

ชงอนุมัติรถไฟทางคู่เฉียด3หมื่นล้าน

20 มิถุนายน 2559

คมนาคมชง ครม.อังคารนี้พิจารณาลงทุนรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 2.98 หมื่นล้าน

คมนาคมชง ครม.อังคารนี้พิจารณาลงทุนรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 2.98 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 131 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.98 หมื่นล้านบาท ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาและจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2562

ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงมาบกะเบา-ปางอโศก 32 กิโลเมตร และช่วงปางอโศก-ชุมทางถนนจิระ 101 กิโลเมตร

แหล่งข่าวยังระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาวิธีการกำหนดมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อให้สามารถนำรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริงภายในเดือน พ.ย. 2559 โดยในระยะแรกอาจให้เดินรถภายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน

ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้นๆ และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในช่วงปี 2560-2564 ที่มีวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท มาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะและส่วนบุคคล

สำหรับแผนขับเคลื่อนแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านสาธารณูปโภค การสนับสนุนด้านภาษี และ การปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยดำเนินการในช่วงปี 2559-2560 เริ่มจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะเริ่มใช้รถเมล์ไฟฟ้าทดสอบสมรรถนะ 20 คัน จากนั้นเริ่มนำร่องให้บริการจำนวน 200 คัน ในปี 2560 พร้อมทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เตรียมสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานีในกรุงเทพฯ ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะจัดรถบัสโดยสารไฟฟ้าทดสอบเส้นทางระหว่างสุวรรณภูมิ-พัทยาพร้อมสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง ระหว่างทาง

ระยะที่ 2 ขยายผลในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลระหว่างปี 2561-2564 โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การกำหนดรูปแบบและมาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า การกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน การทบทวนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า

และระยะที่ 3 ขยายผลไปสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลระหว่างปี 2564 เป็นต้นไปจนถึงปี 2579 โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า พัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ และพัฒนาระบบบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศร่วมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 700-800 สถานี