posttoday

ชงผ่อนผันลงทุนเขตศก.ตะวันออก

15 มิถุนายน 2559

สปริงบอร์ดจ่อเสนอสมคิดพิจารณากฎระเบียบอีอีซี อนุมัติลงทุนตั้งกิจการก่อนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สปริงบอร์ดจ่อเสนอสมคิดพิจารณากฎระเบียบอีอีซี อนุมัติลงทุนตั้งกิจการก่อนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพนวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะเสนอรายงานความคืบหน้าระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ต่อที่ประชุมสปริงบอร์ด ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ พร้อมทั้งจะเสนอแนวทางขับเคลื่อนการลงทุน 2 กรอบใหญ่ คือ หลักเกณฑ์การผ่อนปรน และหลักเกณฑ์การงดเว้น

ทั้งนี้ ในส่วนหลักเกณฑ์การผ่อนปรน จะเสนอขอให้หน่วยงานรัฐอนุมัติการลงทุนได้ ก่อนที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโครงการจะได้รับความเห็นชอบ แต่ผู้ประกอบการจะให้ลงทุนได้ก็ต่อเมื่ออีเอชไอเอผ่านแล้ว ขณะที่หลักเกณฑ์การงดเว้น จะขอให้ยกเว้นวีซ่าทำงานของชาวต่างชาติแบบปีต่อปี เป็นแบบระยะยาวแทน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

“การอนุญาตนี้จะถือเป็นขั้นตอนอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะอีเอชไอเอ เพราะปัจจุบันขั้นตอนอีเอชไอเอจะใช้เวลามากกว่า 1 ปี นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกด้านการเข้ามาทำงานของต่างชาติ การขยายวีซ่าจากปัจจุบันจะให้ปีต่อปี รวมทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 15 ปีจากปัจจุบันสูงสุด 8 ปี หากที่ประชุมสปริงบอร์ดเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คบพ.) และ ครม.พิจารณา” แหล่งข่าวเปิดเผย

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ให้เดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์คู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่จะลงนามสัญญาก่อสร้างและเริ่มลงทุนได้ก็ต่อเมื่ออีไอเอผ่านแล้วเท่านั้น

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล 6,000 ล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้หน่วยงานรัฐ 2 แห่งมีความเห็นต่างกันทางกฎหมาย จึงส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีพิจารณาและศาลเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาวันที่ 16 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเลยวันที่กำหนดให้นิติบุคคลยื่นเสียภาษีแล้ว