posttoday

ปรับขึ้นจีดีพีไทย"เวิลด์แบงก์"ให้บวกชาติเดียวในภูมิภาค

09 มิถุนายน 2559

ธนาคารโลก ประเมินเศรษฐกิจไทยดีขึ้นทั้งปีนี้และปีหน้า สวนทางจีดีพีโลกถูกหั่นเหลือ 2.4%

ธนาคารโลก ประเมินเศรษฐกิจไทยดีขึ้นทั้งปีนี้และปีหน้า สวนทางจีดีพีโลกถูกหั่นเหลือ 2.4%

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปี ปรับขึ้นคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่ 2% และจะขยายตัวขึ้น 2.6% ในปีหน้า จากคาดการณ์เดิมที่ 2.4% ซึ่งนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีเพิ่มจากรายงานเดิมเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนและบริโภคที่คาดจะขยายตัวขึ้น

เวิลด์แบงก์ คาดการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโดยไม่รวมจีน จะได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะช่วยสนับสนุนการบริโภคอย่างแข็งแกร่งในไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

"ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังดิ้นรน แต่เศรษฐกิจในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้กลับกำลังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้าพลังงาน" โกสิก พสุ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์ ระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ แม้ว่าการส่งออกจะยังคงอ่อนแรง ทว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเนื่องจากราคาพลังงานที่ถูกลง ทำให้กลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิโดยเฉพาะไทยได้ประโยชน์ และช่วยให้ประเทศมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หรือสมดุลมากขึ้น

"สำหรับไทยนั้น คาดการขยายตัวเศรษฐกิจจะดีต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่เริ่มกลับคืนมา แต่การขยายตัวน่าจะยังอยู่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้ไปจนถึงปี 2561 โดยเป็นผลมาจากการค้าโลกที่ยังคงอ่อนแอ" รายงานของเวิลด์แบงก์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์ยังได้เตือนถึงปัจจัยเสี่ยงจากจีนที่จะยังคงเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยประเมินว่าทุกๆ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ลดลง 1% จะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ลงไปด้วย 0.4% นอกจากนี้การค้าโลกที่ซบเซารวมไปถึงความผันผวนและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว คล้ายกับในช่วงเดือน ส.ค. 2558 และเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559 ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาค

ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 2.4% และของปี 2560 ลงมาอยู่ที่ 2.6% พร้อมกับลดคาดการณ์ของบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ดีมานด์ที่ซบเซาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การค้าโลกที่อ่อนแรง และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ลดลง