posttoday

กระชับพื้นที่ผลิตไฟฟ้าไทยถกเมียนมาสานต่อเขื่อนมายตง-คลังแอลเอ็นจี

07 มิถุนายน 2559

ไทย-เมียนมา เปิดเวทีเจรจาพลังงาน 10 มิ.ย. หวังสานต่อไฟฟ้าพลังน้ำมายตง-คลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ

ไทย-เมียนมา เปิดเวทีเจรจาพลังงาน 10 มิ.ย. หวังสานต่อไฟฟ้าพลังน้ำมายตง-คลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะทำงานด้านพลังงานระหว่างไทย-เมียนมา ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานของทั้ง 2 ประเทศเป็นประธาน โดยที่ประชุมจะหารือแนวทางการผลักดันความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งการผลิตปิโตรเลียมและผลิตไฟฟ้าในประเทศเมียนมา ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่ไทยลงนามกับเมียนมาก่อนหน้านี้

“หลังเมียนมาตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไทยสอบถามถึงความร่วมมือด้านพลังงานที่เคยตกลงไว้ซึ่งเมียนมาระบุว่า พร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง” พล.อ.อนันตพร กล่าว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทยจะหยิบยกประเด็นความร่วมมือต่างๆ ขึ้นหารือ เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง 6,000 เมกะวัตต์ โครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU) การซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 100 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นต้น

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้การสร้างเขื่อนมายตงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ปรับลดกำลังการผลิตจาก 7,000 เมกะวัตต์ เหลือ 6,000-6,300 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีการปรับแผนจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แห่งเดียว เป็นการสร้างเขื่อนตอนบน และเขื่อนตอนล่าง เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำสาละวินที่มีค่อนข้างมาก หากสร้างเขื่อนใหญ่เพียงแห่งเดียวจะกระทบต่อชุมชนในวงกว้าง

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านพลังงานกับเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพีดีพีเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงที่ไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากเกินไป

นายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานมาก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่พม่ามีประชากรมากกว่าแต่มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ และแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวของเมียนมากำหนดความต้องการไฟฟ้าเพิ่มอีกหลายหมื่นเมกะวัตต์