posttoday

พณ.ส่งหนูณิชย์บุกโรงงานช่วยค่าครองชีพ

04 พฤษภาคม 2559

“พาณิชย์” เตรียมส่งร้านหนูณิชย์ พาชิม บุกขายหน้าโรงงาน ช่วยค่าครองชีพแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท

“พาณิชย์” เตรียมส่งร้านหนูณิชย์ พาชิม บุกขายหน้าโรงงาน ช่วยค่าครองชีพแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่องโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและค่าครองชีพ ว่า กรมได้เตรียมหาแนวทางในการดูแลและลดค่าครองชีพให้กับประชาชนกลุ่มผู้รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท หลังผลสำรวจของหอการค้าไทย พบว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงต้องเน้นการเพิ่มมาตรการดูแลค่าครองชีพให้กับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
   
สำหรับแนวทางในการดำเนินการ กรมจะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อจัดเมนูอาหารราคาประหยัดผ่านร้านอาหารหนูณิชย์ พาชิม ซึ่งจะมีการจำหน่ายทั้งอาหารปรุงสำเร็จเพื่อบริโภคประจำวัน และอาหารปรุงสำเร็จบรรจุถุง ซื้อกับไปบริโภคที่บ้าน โดยจะจำหน่ายในเมนูต่ำกว่า 35 บาท เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและผู้มีรายได้ต่ำ ที่ประสบปัญหาค่าครองชีพ

ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการหนูณิชย์ พาชิมให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งร้านค้าในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ และร้านค้าที่อยู่ในห้าง รวมทั้งจะใช้การจัดงานธงฟ้า เพื่อนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น
 
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงภัยแล้ง จากผลสำรวจพบว่า ผักบางรายการมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นตามกลไกตลาด แต่ไม่น่าห่วง เพราะมีผักหลากชนิดที่สามารถเลือกซื้อและทดแทนกันได้ ส่วนเนื้อสุกรก็มีการปรับราคาขึ้น เพราะลูกหมูโตช้า ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง และผู้ประกอบการยังมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเลี้ยง ส่วนไข่ไก่และไก่สด ราคาทรงตัว โดยรรคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 2.30 บาท และราคาขายปลีกเบอร์ 3 ฟองละ 3 บาท

“กรมได้สั่งการให้ค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามและตรวจสอบภาวะราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่สมเหตุสมผล และหากพบความผิดปกติ ก็จะหารือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่วนประชาชน หากพบเห็นการฉวยโอกาสให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน 1569”