posttoday

กฟผ.ชี้ไฟพีคเกินคาดห่วงอีก2-3ปีอาจไม่พอ

29 เมษายน 2559

กฟผ.ชี้ไฟพีคพุ่งเกินคาด ห่วงระยะยาว 2-3 ปี หากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่รองรับ การใช้ไฟโตปีละ 2,000 เมกะวัตต์

กฟผ.ชี้ไฟพีคพุ่งเกินคาด ห่วงระยะยาว 2-3 ปี หากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่รองรับ  การใช้ไฟโตปีละ 2,000 เมกะวัตต์ 

นายสุนชัย    คำนูณเศรษฐ์     ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยถึง   สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวที่โตเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 29,403 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2,000 เมกะวัตต์ เทียบกับปีก่อน ซึ่งไฟพีคมีการขยายตัวในระดับนี้ น่าเป็นห่วงในระยะยาว  2-3 ปี ข้างหน้า หากไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมารองรับได้ทันจะมีปัญหาปริมาณสำรองได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ  38,838 เมกะวัตต์     โดยมีสำรองไฟฟ้าพร้อมจ่ายจริง ประมาณ 32,000  เมกะวัตต์   ซึ่งยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานทดแทน เพราะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด24 ชม. โดยตัวเลขไฟพีคที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอัตราสูงสุด แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก  

"ตัวเลขไฟพีคปีนี้ถือว่าโตกว่าที่คาดไว้ แต่ยังรับมือได้ แต่หลังนี้ในปีถัดไป โดยเฉพาะจาก 2-3 ปีข้างหน้าไปแล้วจะต้องติดตามระมัดระวังอย่างเข้มข้น   ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพีจะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ ดังนั้นยังมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ตามแผน แม้จะมีอุปสรรคในเรื่องการทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ต่อต้านก็ตาม  เพราะจะรอให้เกิดความเสี่ยงด้านไฟฟ้าไม่ได้ "นายสุนชัยกล่าว

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้พัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพีดีพี ด้วยเทคโนโลยีสะอาด มีความคืบหน้าโดยลำดับ ประกอบไปด้วย   โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 เดินเครื่องเชิงพาณิชย์สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา    โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเดิมที่จะหมดอายุการใช้งาน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้า 28%  มีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.  2561    โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เครื่องที่ 1-2 และโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน เครื่องที่ 1-5     ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างจัดหาบริษัทเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี  ซึ่งกำหนดเวลาไว้ 8 เดือน ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 4 เดือน  ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขณะนี้ได้นำส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  ซึ่งในระยะยาวภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ไปรองรับ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดไฟพีคภาคใต้ถึง 12 ครั้ง แล้ว ทำให้ต้องมีการจัดส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางเข้าไปรองรับความต้องการให้เพียงพอ

นายสุนชัย กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2559-2561) กฟผ. กำหนดแผนลงทุน ไว้   301,101 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในระบบผลิต ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้า สายส่งเชื่อมโรงไฟฟ้ากับระบบ และงบลงทุนที่จัดทำเป็นแผนระยะยาวสำหรับโรงไฟฟ้า จำนวน 186,544 ล้านบาท และการลงทุนในระบบส่ง ประกอบด้วย เงินลงทุนขยายระบบส่งไฟฟ้า และงบลงทุนที่จัดทำเป็นแผนระยะยาวสำหรับระบบส่ง จำนวน 114,557 ล้านบาท