posttoday

สหรัฐฯคง PWLไทยต่ออีกปีเหตุหลังสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ยังเกลื่อน

29 เมษายน 2559

“อภิรดี” ยันไทยถูกขึ้นบัญชี PWL ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ไม่กระทบภาคส่งออกและสิทธิจีเอสพี พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดเพื่อดูแลทั้งสินค้าไทยและต่างประเทศ

“อภิรดี” ยันไทยถูกขึ้นบัญชี PWL ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ไม่กระทบภาคส่งออกและสิทธิจีเอสพี พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดเพื่อดูแลทั้งสินค้าไทยและต่างประเทศ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ได้ประกาศสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้า มาตรา 301 พิเศษว่า ในปีนี้ ยูเอสทีอาร์ ยังคงอันดับของไทยในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่อเนื่องอีก 1 ปี หรือเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันนับจากปี 2550 ซึ่งการที่ไทยยังคงในบัญชี PWL เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาคการส่งออกไทย และการได้รับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) โดยสินค้าไทยยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯต่อไป

“การที่สหรัฐฯยังคงบัญชี PWL กับไทยต่อเนื่องอีกปี เป็นสิ่งที่ไทยรู้ตัวมาโดยตลอด เพราะสหรัฐฯอ้างว่ายังเห็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาวางขายในไทยอยู่ โดยเฉพาะในตลาดพื้นที่สีแดงทั้ง 13 แห่งที่วางสินค้าละเมิดจำนวนมาก” นางอภิรดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะยังอยู่ในบัญชี PWL แต่ไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป โดยล่าสุดพล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ได้มีการประชุมและให้ทุกหน่วยงานเร่งอปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการละเมิดสินค้าแบรนด์ต่างประเทศเท่านั้น แต่สินค้าไทยก็มีการถูกละเมิดมากขึ้น เช่น ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และเพลง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นวงกว้าง จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

“ที่สำคัญขณะนี้ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ลามมาถึงสินค้าอาหาร สินค้าของใช้ส่วนบุคคล และยา เช่น ซอส ซีอิ้ว สบู่ แชมพู ซึ่งมีการนำขวดของแบรนด์สินค้ามาบรรจุสินค้าปลอมแปลง เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตประชาชน ก็ต้องเร่งจัดการด้วยเช่นกัน และการแก้ไขปัญหาละเมิดยังเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่โมเดล 4.0 หรือประเทศที่จะใช้นวัตกรรม และดิจิตอลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ”  นางอภิรดี กล่าว

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ยูเอสทีอาร์ ได้ระบุเหตุผลต่อการจัดอันดับไทยอยู่บัญชี PWL โดยไทยควรให้ความสำคัญกับการป้องปรามการละเมิดมากขึ้น เนื่องจากยังคงพบปัญหาการละเมิดในรูปแบบต่างๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต การขายสินค้าปลอม การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ การขโมยสัญญาณเคเบิลและดาวเทียม และยังคงมีปัญหางานค้าง (backlog) การจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นต้น

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกำหนดโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศ การเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสหรัฐฯที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของภาคเอกชน และมีข้อเสนอแนะในเรื่องการให้ความคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์เกษตร และการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข และสหรัฐฯเน้นย้ำว่าควรมีกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเจ้าของสิทธิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯเสนอให้ไทยพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในประเด็นที่มีข้อกังวล อาทิ การเอาผิดเจ้าของพื้นที่ปล่อยให้มีการขายสินค้าละเมิด การให้ความคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีและข้อมูลการบริหารสิทธิอย่างเพียงพอ และการกำหนดกระบวนการให้ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISP) จะเอาเนื้อหาที่มีการละเมิดออกจากเว็บไซต์ (notice-and-takedown) ที่ชัดเจน และเสนอให้ไทยพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการ (แอคชั่น แพลน) ร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้สหรัฐฯถอดไทยออกจากบัญชี PWL โดยยูเอสทีอาร์จะจัดทำร่างแอคชั่น แพลน ส่งให้ฝ่ายไทยพิจารณาต่อไป

สำหับการจัดอันดับในปี 2559 สหรัฐฯจัดสถานะประเทศคู่ค้าให้อยู่ในบัญชี PWL รวม 11 ประเทศ ได้แก่ อัลจีเรีย อาร์เจนตินา ชิลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต รัสเซีย ยูเครน เวเนซูเอลา และไทย ซึ่งเป็นประเทศเดิมที่ถูกจัดสถานะในบัญชี PWL เมื่อปี 2558 ทั้งหมด โดยในปีนี้มีประเทศที่ได้รับการปรับสถานะจากบัญชี PWL ให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน และเอกวาดอร์ รวมมีประเทศที่ถูกจัดสถานะให้อยู่ในบัญชี WL จำนวน 23 ประเทศ เช่น บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ อียิปต์ กรีซ เม็กซิโก ปากีสถาน เปรู โรมาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และเวียดนาม