posttoday

ชงขึ้นค่าแรง310-315บาท/วัน

20 เมษายน 2559

หอการค้า ชงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-7% เพิ่มกำลังซื้อกลุ่มรากหญ้า หลังสำรวจพบประชาชนรายได้ไม่พอรายจ่าย หนี้พุ่ง

หอการค้า ชงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-7% เพิ่มกำลังซื้อกลุ่มรากหญ้า หลังสำรวจพบประชาชนรายได้ไม่พอรายจ่าย หนี้พุ่ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจค่าครองชีพไทยแพงจริงหรือไม่ในภาวะภัยแล้ง และเงินเฟ้อติดลบ จากตัวอย่าง 1,356 รายทั่วประเทศ พบว่าจากปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ซึมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกที่ผ่านมา ติดลบ 0.6% แต่ประชาชนรู้สึกว่าราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน

ขณะที่ผลสำรวจรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในปี 2558 อยู่ที่ 26,915 บาท รายจ่าย 21,157 บาท และ 75.2% มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 156,770 บาท ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่มองว่ามีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างรายวัน ทำให้ต้องกู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ คิดเป็นสัดส่วน 62% เป็นสาเหตุของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งคาดว่าปัญหาภัยแล้งจะยาวนานถึงเดือน ก.ค. ส่งผลให้เม็ดเงินหายจากระบบ 1.2 แสนล้านบาท
 
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ถึงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลและคณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 5-7% หรืออยู่ที่อัตรา 310-315 บาท/วัน น่าจะเป็นอัตราที่รับได้ หลังจากที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรง มา 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีก 2-3 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าปีนี้จีดีพีน่าจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3-3.5% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะติดลบ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0-2%

"อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงต้องเข้าหารือในคณะกรรมการไตรภาคี แต่มองว่าหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 3-5% น่าจะยอมรับได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้มีความรู้สึกว่าของแพงขึ้น ขณะที่รายได้ไม่เพิ่มมา 3 ปี รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อระดับราคาสินค้า พบว่าสินค้าที่ประชาชนบอกว่ามีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์  (หมู ไก่) ปลา อาหารทะเล ผลไม้ อาหารจานเดียว/อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ปัจจัยทางการเกษตร ปุ๋ย อาหารสัตว์ เคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงค่าเทอมและค่ากวดวิชา

นอกจากนี้ ผลสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนยังพบด้วยว่า รายรับในปัจจุบันลดลงเมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่ผ่านมา มีสัดส่วน 39.3% รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะมีหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 6 เดือนข้างหน้า เป็นสัดส่วน 33.7%

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นเปรียบเทียบรายได้และรายจ่ายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 31.2% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย มีรายได้พอดีกับค่าใช้จ่าย 41.2% และมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 27.6% โดยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย จะใช้วิธีกู้ยืมเงินนอกระบบ 42.7% กู้ยืมในระบบ 19.3% นำเงินออมมาใช้ 17.8% หารายได้เสริม เช่น ทำโอที ขายของ 9.7% ประหยัดค่าใช้จ่าย 8.5% และอื่นๆ 2%

กลุ่มที่มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เป็นกลุ่มเกษตรกรและรับจ้างในภาคเกษตร 31.7% รับจ้างรายวัน 18.3% พนักงานบริษัทเอกชนและลูกค้า 17.6% และ 62.9% อยู่ในสถานะสมรส และอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 35.1%

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่ประสบอยู่ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาด่วนที่สุด คือ ควบคุมดูแลราคาสินค้า 25.6% ปรับเงินเดือนและค่าจ้างให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ 19.4% และเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 19.1%