posttoday

ลั่นโซลาร์รูฟท็อปไม่เสรี100%

11 เมษายน 2559

“เรกูเลเตอร์” ชี้ยังไม่พร้อมเปิดโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100% ทดสอบนำร่อง 100 เมกะวัตต์ เปิดยื่น ส.ค.นี้

“เรกูเลเตอร์” ชี้ยังไม่พร้อมเปิดโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100% ทดสอบนำร่อง 100 เมกะวัตต์ เปิดยื่น ส.ค.นี้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ในฐานะโฆษก เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป) แบบเสรี ระยะนำร่อง 100 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้เรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยจะสามารถประกาศได้ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2559 และเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นโครงการได้ภายในเดือน ส.ค.

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการเปิดโซลาร์รูฟท็อปเสรีแบบ 100% แต่เป็นการดำเนินการระยะนำร่องเพื่อศึกษาและติดตามผลการดำเนินงานว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่

“ขั้นตอนหลักๆ คือภายในเดือน ต.ค.จะสามารถประกาศผลการคัดเลือกและเกิดการลงนามรับซื้อได้ภายในเดือน ธ.ค. 2559 และเริ่มติดตั้งภายในเดือน ม.ค. 2560 จากนั้นเราจะใช้เวลาในการศึกษาและติดตามผลว่ามีข้อขัดข้องอย่างไร ซึ่งจะใช้เวลา 6 เดือนในการติดตามและจะประเมินในช่วงเดือน มิ.ย. 2560 เมื่อได้ผลอย่างไรก็จะได้เสนอกระทรวงพลังงานเพื่อกำหนดนโยบายการเปิดรับซื้อเสรีต่อไป” นายวีระพล กล่าว

ทั้งนี้ โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่อนุมัติหลักการให้ 2 การไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป 100 เมกะวัตต์ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณไฟฟ้าของการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่รับซื้อแห่งละ 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากบ้านที่อยู่อาศัย 40 เมกะวัตต์ กำหนดซื้อไฟแต่ละหลังคาบ้านไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เมกะวัตต์ จะรับซื้อจากอาคารโรงงาน ซึ่งจะซื้อไม่เกินแห่งละ 1 เมกะวัตต์

นายวีระพล ย้ำว่า โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีเบื้องต้นจะไม่มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ แต่เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง เนื่องจากกระทรวงพลังงานต้องการศึกษาว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบส่งหรือไม่ เพราะจะมีไฟฟ้าไหลย้อนมากเกินไปโดยเฉพาะในช่วงกลางวัน และการดำเนินการตามแนวทางนี้ถือว่าแตกต่างจากข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องการไฟฟ้าที่ผลิตได้จำหน่ายเข้าระบบ ส่วนไฟฟ้าที่เหลือจะให้การไฟฟ้าทั้งสองแห่งรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมหรือเท่าราคาขายส่ง (ระบบ Net-Metering)

“ต้องเข้าใจว่า 2 การไฟฟ้าจำหน่ายได้ตั้งกติกาในเรื่องการเชื่อมโยงไฟระบบโซลาร์เอาไว้ว่า จะติดตั้งได้ไม่เกิน 15% ของระบบหม้อแปลงที่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งอัตราดังกล่าวมาจากค่าเฉลี่ยของบ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ 100 หลังคา ซึ่งพบว่าในช่วงกลางวันจะใช้ไฟประมาณ 15% เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ซึ่งถ้าผลิตไฟฟ้ามากเกินก็จะย้อนไหลเข้าระบบได้ ดังนั้นตอนนี้จะเรียกว่าเปิดเสรี 100% คงไม่ใช่ และเวลานี้เราติดตั้งใช้เองได้อยู่แล้ว แต่ห้ามเชื่อมกับการไฟฟ้า เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องหม้อแปลง” นายวีระพล กล่าว

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า ความตั้งใจของ สปช. คือ ภาครัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีทั้งหมด ไม่จำกัดพื้นที่ และใช้ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยเป็นหลักก่อน หากไฟฟ้าเหลือก็จะขายเข้าระบบ ส่วนที่มีการหยิบยกข้อจำกัดในเรื่องระบบหม้อแปลงมาก็พอฟังได้ แต่ในระยะ 2-3 ปี เชื่อว่าจะมีการขยายระบบสายส่งจนสามารถรองรับได้ ซึ่งการไฟฟ้าทั้งสองแห่งจะต้องแก้ไขกติกาให้สอดคล้องกับนโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีด้วย

“เมื่อรัฐต้องการศึกษาก็ขอให้ดำเนินการสรุปโดยเร็วที่สุด” นายดุสิต กล่าว