posttoday

ไฟเขียวโซลาร์รูฟท็อปเสรี กบง.อนุมัติโครงการนำร่อง100เมกะวัตต์

25 กุมภาพันธ์ 2559

กบง.ไฟเขียวโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ หวัง ส่งเสริมผู้ใช้ไฟผลิตเองใช้เอง

กบง.ไฟเขียวโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ หวัง ส่งเสริมผู้ใช้ไฟผลิตเองใช้เอง

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) แบบเสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จัดประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ

"ในหลักการจะเป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเท่านั้น ไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ส่วนในระยะยาวจะมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้หรือไม่ จะต้องมีการประเมินผลอีกครั้ง เพราะหากทุกคนสนใจติดตั้งโซลาร์เสรีกันมาก ก็ต้องมองถึงผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าด้วย" พล.อ.อนันตพร กล่าว

ทั้งนี้ กบง.และเรกูเลเตอร์จะใช้กลไกของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการเปิดรับยื่นโครงการจากผู้ที่สนใจ โดยจะจัดสรรโควตาให้การไฟฟ้าทั้งสองแห่งๆ ละ 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย 10 เมกะวัตต์ และติดตั้งบนอาคารธุรกิจ 40 เมกะวัตต์
 
 "กระบวนการหลังจากนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเดือนเม.ย.พ.ค. 2559 และกำหนดเงื่อนไขการผลิตไฟฟ้าในเดือน ก.ค. 2559 คาดว่าจะเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560" พล.อ.อนันตพร กล่าว

พล.อ.อนันตพร ย้ำว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ต้องการให้เปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป เพื่อเป็นการทดสอบระบบไฟฟ้าของไทยมีความพร้อมและรองรับได้มากเพียงไหน เพราะการผลิตไฟฟ้าใช้เองจะต้องมีการติดตั้งระบบมิเตอร์เฉพาะ จึงต้องดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่องไปก่อน

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) เดือน ก.พ. 2559 โดยให้คงราคาไว้ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม (กก.) แม้ว่าเมื่อคำนวณต้นทุนเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ของเดือน ม.ค. 2559 จะพบว่าราคาขายปลีกเอ็นจีวีจะอยู่ที่ 13.66 บาท/กก.ก็ตาม โดยบริษัท ปตท.จะรับผิดชอบส่วนต่างที่เกิดขึ้น

ด้าน นายสุธน บุญประสงค์ รอง ผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวหลังเป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ว่า กฟผ.จะร่วมมือกับเอกชนและภาคส่วนต่างๆ เพื่อบริหารจัดการไม่ให้การหยุดจ่ายก๊าซในเมียนมากระทบต่อภาคการขนส่งและอัตราค่าไฟฟ้า โดยในส่วนของภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (เอสพีพี) ที่ต้องใช้ก๊าซจากเมียนมา 70 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ปตท.จะเก็บก๊าซไว้ในท่อเพื่อสำรองให้ผู้ใช้