posttoday

แก้ปมรางรถไฟญี่ปุ่นทับจีน

05 กุมภาพันธ์ 2559

ขอญี่ปุ่นสรุปผลระบบลงทุนราง-การเดินรถเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหตุทับกับจีน

ขอญี่ปุ่นสรุปผลระบบลงทุนราง-การเดินรถเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหตุทับกับจีน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายสึโตมุ ชิมูระ รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ถึงแนวทางในการพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ 574 กิโลเมตร ว่า ได้ขอให้ทางญี่ปุ่นศึกษารายละเอียดในระบบรางในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เนื่องจากเส้นทางมีความทับซ้อนกับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ตั้งแต่บ้านภาชี-สถานีบางซื่อ

ดังนั้น ญี่ปุ่นต้องกลับไปจัดทำรายละเอียดกลับมานำเสนอถึงข้อดี ข้อเสียในการประชุมครั้งหน้าว่าควรจะเลือกแนวทางใด

นายอาคม ชี้แจงว่า ในการประชุมครั้งนี้ทางญี่ปุ่นเสนอมาให้แยกรางการเดินรถของแต่ละโครงการ และเมื่อมีการแยกรางแล้ว ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องมาดูว่า พื้นที่จากบ้านภาชี-ดอนเมือง มีพื้นที่ใดที่จะต้องแบ่งปันกัน เพราะบางพื้นที่จะต้องมีการแบ่งปันการใช้พื้นที่ หรือบางส่วนจะต้องมีการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม

รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า สำหรับพื้นที่บริเวณรังสิต-บางซื่อ-ดอนเมือง พื้นที่มีจำกัด ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าเมื่อแยกราง แยกโครงสร้างพื้นฐานแล้วจะมีพื้นที่เพียงพอหรือไม่ โดยในประเด็นนี้ทางญี่ปุ่นเสนอมา 4 ทางเลือก คือ 1.แยกรางเฉพาะ โดยโครงการแอร์พอร์ตลิงค์อาจวิ่งไม่ถึงดอนเมือง โดยจะก่อสร้างเฉพาะเส้นทางจากพญาไท-บางซื่อ และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง อาจใช้ระบบของรถไฟไทย-จีน หรือไทย-ญี่ปุ่น

2.แชร์แพลตฟอร์มของแอร์พอร์ตลิงค์ คือ รางของญี่ปุ่น และมีรางของแอร์พอร์ตลิงค์ 3.แชร์แทร็ก คือ รางอยู่ตรงกลาง แต่แพลตฟอร์มคนละแพลตฟอร์ม และ 4.ญี่ปุ่นสร้างทางแยกออกมา ซึ่งจะต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ยากที่สุด

ด้านเส้นทางกาญจนบุรีกรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง ทางญี่ปุ่นได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาสภาพเส้นทางว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง โดยอนาคตจะปรับปรุงเป็นทางคู่ เป็นเส้นทางที่ต่อเชื่อมไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

นายอาคม กล่าวว่า การเดินรถสินค้านั้นทางญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยดูว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง และจะลงพื้นที่ไปดูในวันที่ 5 ก.พ. 2559 ที่จะใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็กเข้ามาขนส่งสินค้ารองรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยเพื่อขนส่งสินค้า และจะใช้สถานีหนองปลาดุกเป็นต้นแบบ เชื่อมจากหนองปลาดุกแยกไป จ.สุพรรณบุรี ลงไปทางใต้และจะทดลองเดินรถ และต่อไปจะทดลองเดินรถไปในเส้นทางเหนือ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ในส่วนของเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ทางญี่ปุ่นยังไม่ได้ศึกษา โดยทางญี่ปุ่นขอให้ไทยสรุปเรื่องทางเลือก ทางร่วมเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก่อน