posttoday

21แท่นขุดน้ำมันเสี่ยงปิดเพิ่ม

04 กุมภาพันธ์ 2559

กรมเชื้อเพลิงฯ จับตา 21 แท่นขุดเจาะน้ำมันหยุดกิจการเพิ่ม หลังหยุดแล้ว 2 แห่ง เหตุราคาโลกดิ่งเหลือ30เหรียญ

กรมเชื้อเพลิงฯ จับตา 21 แท่นขุดเจาะน้ำมันหยุดกิจการเพิ่ม หลังหยุดแล้ว 2 แห่ง เหตุราคาโลกดิ่งเหลือ30เหรียญ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันราคาน้ำมันดิบลดเหลือเฉลี่ย 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ขณะนี้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวไทยหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้ว 2 แห่ง จากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีความเสี่ยงจะหยุดกิจการชั่วคราว 23 แห่ง

นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนอยู่ที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในขณะนี้ ทำให้บริษัทที่ได้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย เลื่อนแผนการขุดเจาะสำรวจน้ำมันออกไป และมีแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย 2 แห่ง คือ แท่นสงขลา C และแท่นสงขลา G กำลังการผลิตรวม 2,600 บาร์เรล/วัน ของบริษัท คอสตอลเอนเนอร์ยี่ หยุดกิจการชั่วคราว

นายสุริยันต์ กล่าวว่า กรมกำลังติดตามว่าจะมีแท่นขุดเจาะน้ำมันหยุดกิจการเพิ่มหรือไม่ และหากทั้ง 23 แท่นหยุดกิจการ จะทำให้พนักงานบนแท่นขุดเจาะและพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตกงาน 6,000 คน

"กรมอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียมจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตอีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุน" นายสุริยันต์ กล่าว

สำหรับการรื้อถอนแท่นขุดเจาะน้ำมันนั้น จะต้องอยู่บนเงื่อนไข 3 กรณี คือ 1.ผู้ประกอบการหยุดการผลิตปิโตรเลียมเป็นระยะเวลา 1 ปี และหากไม่มีแผนงานลงทุนชัดเจนต่อเนื่องจะต้องทำแผนรื้อถอน 2.ผู้ประกอบการที่มีปริมาณปิโตรเลียมสำรองเหลือเพียง 40% และ 3.สัญญาสัมปทานของผู้ประกอบการจะสิ้นสุดสัญญาภายในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องจัดทำแผนประมาณค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งเสนอมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยต้องวางเงินประกันการรื้อถอน 100% จากนั้นกรมจะส่งต่อให้คณะกรรมการปิโตรเลียมทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่พิจารณาอนุมัติให้รื้อถอนสิ่งติดตั้งตามลำดับขั้นต่อไป

นายสุริยันต์ กล่าวว่า เมื่อ วันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมตามร่างกฎกระทรวงกำหนดแผนงานประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ...ออกตามความในมาตรา 80/1 และ 80/2 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 เพื่อนำข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยของทุกฝ่ายไปปรับปรุง

"กรมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะนำความคิดเห็นและข้อห่วงใยในประเด็นต่างๆ ไปใช้ประกอบการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแล การดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนที่จะมีขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และลดข้อห่วงกังวลต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ภายใน 6 เดือน ซึ่งจะสอดคล้องกับสัญญาสัมปทานของเชฟรอนฯ และ ปตท.สผ.ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566" นายสุริยันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแท่นหลุมผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมและแท่นที่พักอาศัยทั้งสิ้น 535 แห่ง ประกอบด้วย 1.แท่นในอ่าวไทย 435 แท่น และ 2.แท่นบนบก 100 แท่น คาดใช้งบประมาณในการรื้อถอนหลักแสนล้านบาท

ภาพประกอบข่าว