posttoday

รฟม.เตรียมโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กทม.บริหาร

21 มกราคม 2559

รฟม.เล็งลงเอ็มโอยู โอนภารกิจบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กทม.พร้อมตั้งกรรมการ 3 ชุดพิจารณาหนี้สิน-เทคนิค-เดินรถ

รฟม.เล็งลงเอ็มโอยู โอนภารกิจบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กทม.พร้อมตั้งกรรมการ 3 ชุดพิจารณาหนี้สิน-เทคนิค-เดินรถ

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างเตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการโอนภารกิจการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาและหารือข้อกฏหมายกับกทม.ในส่วนที่ต้องส่งมอบงานโครงการทั้งหมด

ทั้งนี้ หลังจากลงนามในเอ็มโอยูแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการพิจารณาหนี้สิน ที่มีผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สินสาธารณะ เป็นต้น พิจารณาหนี้สินที่กทม.ต้องจ่ายคืนให้รฟม.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 2. คณะกรรมการเทคนิค มีตัวแทนกทม. รฟม. จะพิจารณาเรื่องเทคนิคการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ให้บริการในปัจจุบันกับโครงการที่รฟม.ก่อสร้างอยู่ และ3.คณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีตัวแทน กทม.และรฟม.อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังไม่มีการลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าวทางกทม.และรฟม.ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

“ก่อนหน้านี้ทางกทม.ได้ชี้แจงว่า หากมีการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ แล้วจะสามารถเปิดให้บริการบางสถานีได้ในปี 2560 และตามกำหนดเดิมจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2562 ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างขณะนี้งานโยธาคืบหน้า 75 % ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต งานโยธาคืบหน้า 2.63% เร็ววกว่าแผนที่กำหนด 1.31% แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ กทม.ยังไม่อนุญาตให้รฟม.รื้อสะพานรัชโยธินเพื่อก่อสร้างอุโมงค์ จึงต้องเร่งหารือ มิฉะนั้นอาจกระทบต่อแผนงานก่อสร้างที่กำหนดว่าจะต้องเริ่มรื้อสะพานรัชโยธินภายในเดือนเม.ย. 2559”นายธีรพันธ์ กล่าว

นายธีรพันธ์ กล่าวว่า กทม.ได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่รฟม.มีแผนจะรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพราะเกรงว่ารถจะติดขัดมากกว่าเดิม แต่ทางรฟม.ขอยืนยันว่าได้ให้ที่ปรึกษาจัดทำโมเดลการแก้ไขปัญหาจราจรไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 21.5 กม.วงเงินลงทุนประมาณ 85,288 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบ และจะลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินระหว่างวันที่ 26- 29 ม.ค.นี้ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทั้งหมด โดยในช่วงปลายปี 2558 ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ โดยรฟม.ได้ชี้แจงว่าจะมีการเยียวยาและการชดเชยอย่างไรบ้าง ครั้งนี้จะจัดแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงอีกครั้ง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะเสนอครม.อีกครั้งหลักจากมีการปรับลดกรอบวงเงินลงประมาณ 1,028 ล้านบาท หรือเป็นวงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 94,000 ล้านบาท จากนั้น คาดว่าจะประกวดราคาได้ภายในเดือนเม.ย.2559