posttoday

เสนอรัฐอัดซอฟต์โลนอุ้มเอสเอ็มอีอีกแสนล.

02 ธันวาคม 2558

กกร.เสนอรัฐบาลเพิ่มเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอีอีกแสนล้าน ให้กู้รายละ 15 ล้าน

กกร.เสนอรัฐบาลเพิ่มเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอีอีกแสนล้าน ให้กู้รายละ 15 ล้าน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความเห็นว่า รัฐบาลควรอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีวงเงิน 1 แสนล้านบาทอีกระลอก เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เนื่องจากวงเงินก้อนแรกที่ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี 1 แสนล้านบาท คิดดอกเบี้ย 4% วงเงินรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท หมดลงอย่างรวดเร็ว และขณะนี้มีจำนวนคำขอกู้เกินวงเงินที่รัฐบาลกำหนดและยังค้างท่ออยู่เป็นจำนวนมาก

นายสุพันธ์ ชี้แจงว่า กกร.จึงเสนอให้รัฐบาลอนุมัติวงเงินกู้เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท โดยให้นำคำขอที่ค้างท่ออยู่ไปหักจากเงินก้อนใหม่ โดยได้รับเงินรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือต้องจำกัดวงเงินให้ผู้ขอกู้ใหม่รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท เพื่อกระจายไปยัง เอสเอ็มอีให้ทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเสนอต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต่อไป

นอกจากนี้ กกร.จะเร่งสรุปผลการศึกษาผลดีและผลเสีย การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานการศึกษา โดยจะเรียกประชุมกันวันที่ 4 ธ.ค.นี้ โดยในเบื้องต้นเห็นว่าไทยควรเข้าร่วมทีพีพีเพื่อประโยชน์ในทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว

ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมทีพีพีเป็นประเด็นที่อ่อนไหว แต่ก็มีระยะเวลาผ่อนปรนยาว 15-20 ปี ส่วนเรื่องความเป็นห่วงว่าจะทำให้ราคายาแพงขึ้นนั้น พบว่า ยาที่ใช้ส่วนใหญ่ในขณะนี้จะไม่แพงขึ้น มีเพียงยาพิเศษชนิดใหม่ๆ ที่จะแพงขึ้น ซึ่งภาครัฐสามารถเข้ามาอุดหนุนได้ ส่วนในเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อมนั้นไม่น่าจะมีปัญหา จึงให้เวลาศึกษา 1 เดือน เพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กกร. หากที่ประชุมเห็นด้วยจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา

นอกจากนี้ กกร.ได้ให้ภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดสรุปปัญหาผังเมืองที่กระทบพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อหารือกับกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในเดือน ม.ค. 2559 โดย กกร.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาผังเมืองของต่างประเทศและจ้างที่ปรึกษาต่างชาติ เข้ามาร่วมในคณะทำงาน เพื่อนำรูปแบบผังเมืองที่ประสบความสำเร็จในโลก มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย แล้วจัดทำผังเมืองของไทยในอีก 50 ปี จากนั้นจะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดทำผังเมืองฉบับใหม่