posttoday

ขาดทุนยับ!เอกชนซื้อข้าวเน่ากิโลละ5บาท

01 ธันวาคม 2558

กลุ่มอุตสาหกรรมเสนอซื้อข้าวเสื่อมสต๊อกรัฐบาล 3.74 หมื่นตัน ราคาเฉลี่ย 5,020-5,419 บาท/ตัน คาดหากอนุมัติขายทำรัฐขาดทุนจากต้นทุนจำนำ 1.86 หมื่นบาท/ตัน

กลุ่มอุตสาหกรรมเสนอซื้อข้าวเสื่อมสต๊อกรัฐบาล 3.74 หมื่นตัน ราคาเฉลี่ย 5,020-5,419 บาท/ตัน คาดหากอนุมัติขายทำรัฐขาดทุนจากต้นทุนจำนำ 1.86 หมื่นบาท/ตัน  

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลการเปิดซองเสนอราคาระบายข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมปริมาณ 3.74 หมื่นตัน ผลปรากฎว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติ 14 ราย จาก 15 ราย แต่ยื่นซองเสนอราคา 13 ราย ซึ่งยื่นเสนอราคาครบทั้ง 10 โกดังที่นำมาเปิดประมูล โดยเสนอราคาซื้อเฉลี่ยตั้งแต่ 5,020-5,419.98 บาท/ตัน คิดเป็นมูลค่า 197.8

ทั้งนี้ ในวันนี้ (2 ธ.ค.) ทางคณะทำงานพิจารณาการระบายข้าวจะประชุม เพื่อพิจารณาราคาที่แต่ละบริษัทเสนอมาว่าจะอนุมัติขายหรือไม่ โดยจะประเมินจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น บริษัทที่ยื่นซื้อมีกำลังการผลิตสินค้าเท่าไหร่ เหมาะสมกับปริมาณข้าวที่ได้ยื่นประมูลซื้อหรือไม่ และราคาเทียบกับกับวัตถุดิบชนิดอื่นๆที่บริษัทใช้ผลิตสินค้าว่ามีราคาแตกต่างกับราคาที่เสนอซื้อข้าวอย่างไร ก่อนจะสรุปผลเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติขายต่อไป

“ข้าวเสียที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเสนอซื้อครั้งนี้ มีราคาเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่กก.ละ 5.02-5.41 บาท หรือตันละ 5,020-5,419.98 บาท ส่วนราคาข้าวขาว 5% ที่เคยขายได้ผ่านๆมอยู่ที่ตันละ 1-1.2 หมื่นบาท ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าขายได้ราคาดีหรือไม่ เพราะต้องเทียบกับวัตถุดิบอื่นๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ และราคาข้าวตกเกรดด้วย” นางดวงพรกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า หากมีการอนุมัติขายข้าวเสื่อมสภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมตามราคาที่เสนอซื้อสูงสุดคือตันละ 5,419 บาท รัฐบาลจะขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำข้าวที่ราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท หรือแปลงเป็นข้าวสารต้นทุน 2.4 หมื่นบาท หรือขาดทุนตันละ 1.86 หมื่นบาท ถ้าอนุมัติขายครบทั้ง 3.74 หมื่นตันจะขาดทุน 695 ล้านบาท และหากคิดจากราคาตลาดข้าวขาว 5% ที่ปัจจุบันอยู่ที่ราคาตันละ 1.1-1.2 หมื่นบาท จะขาดทุนตันละ 5,000-6,000 บาท หากอนุมัติขายหมดจะขาดทุนประมาณเกือบ 200 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคาอนุมัติขายเป็นมูลค่าความเสียหายที่เซอร์เวเยอร์และเจ้าของโกดัง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับภาครับจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายจากส่วนต่างดังกล่าว

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่มีกลุ่มบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซเวอร์เยอร์) มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ให้มีการตรวจสอบสภาพข้าวใหม่ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น กระทรวงฯขอยืนยันว่ากระบวนการตรวจสอบข้าวเป็นการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะในการตรวจสอบข้าวมีการจัดทำบัญชี เก็บตัวอย่างไปตรวจ มีมาตรฐานในการตรวจวัดว่าเป็นข้าวคุณภาพดีหรือไม่ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม เมื่อตำรวจทำสำนวนเสร็จแล้ว ก็นำข้าวออกมาเปิดประมูล ซึ่งทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด

“ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่ากระบวนการตรวจสอบข้าวไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นธรรม และกลัวว่าข้าวที่นำมาขายจะขายได้ราคาไม่ดี ขอยืนยันว่าทุกขั้นตอนมีหลักเกณฑ์ มีมาตรฐานกำหนดไว้ชัดเจน มีหลักวิชาการในการแยกแยะว่าเป็นข้าวเกรดไหน ไม่ใช่กำหนดตามใจ ถ้าจะมาบอกว่าไม่เป็นธรรม ก็ต้องไปสู้กันในศาลว่าข้าวที่รับฝากไว้เสื่อมสภาพตามระยะเวลาหรือเสื่อมสภาพมากกว่าระยะเวลาที่เก็บรักษา”น.ส.ชุติมากล่าว

สำหรับการเปิดประมูลข้าวเสียล็อตต่อไป ขอดูผลการประมูลรอบนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะจะต้องมีการเปิดระบายต่อเนื่องอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลในการที่ต้องเสียค่าฝากเก็บเดือนละกว่า 30 ล้านบาท ส่วนข้าวคุณภาพดี ทั้งเกรดพี เอ และบี จะมีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปอีกครั้งในเดือนมี.ค. 2559 โดยต้องรอให้ข้าวในท้องตลาดหมดก่อน ไม่อยากให้กระทบกับราคาข้าวของเกษตรกร แต่อาจจะมีการเปิดประมูลเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่ช่วงต้นปี ให้เฉพาะการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่

“ส่วนข้าวเกรดซี ไม่ได้บอกว่าจะไม่ระบายสู่อาหารสัตว์ แต่ที่ยังไม่ระบายเพราะหากระบายจะไปทดแทนวัตถุดิบเกษตรที่กำลังออกมา และกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรชนิดนั้น อีกทั้งข้าวที่จะระบายไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต้องดูด้วยว่าไม่เชื้อโรค และราคาที่จะขายก็จะต้อมสมเหตุสมผล หากเสนอราคาไม่ดีก็ไม่ขาย” น.ส.ชุติมา กล่าว