posttoday

"IEA"ชูไทยเป็นฐานเชื่อมพันธมิตรเอเชียด้านพลังงาน

23 พฤศจิกายน 2558

รมว.พลังงานเผยที่ประชุมทบวงพลังงานระหว่างประเทศชูไทยเป็นฐานเชื่อมประเทศในเอเชียด้านพลังงาน

รมว.พลังงานเผยที่ประชุมทบวงพลังงานระหว่างประเทศชูไทยเป็นฐานเชื่อมประเทศในเอเชียด้านพลังงาน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์   รมว.พลังงาน  เปิดเผยถึง การเข้าร่วมการประชุม IEA Ministerial Meeting  2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะประเทศพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เพื่อหารือร่วมแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาด วางมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 21) ที่กรุงปารีสในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ได้ร่วมพบปะหารือกับ ดร.Fathi Birol ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานระหว่างกัน เพื่อรองรับปัญหาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทาง IEA ได้ขอบคุณประเทศไทยในการให้การสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน และจะเป็นเป้าหมายหลักในการขยายโครงข่ายความร่วมมือไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกในอนาคต 

ทั้งนี้IEA มีแนวทางการดำเนินงานสำคัญประการหนึ่งคือ การขยายขอบข่ายความร่วมมือด้านพลังงานไปยังประเทศพันธมิตรที่ไม่ใช่สมาชิก เพราะปัจจุบันการใช้พลังงานของประเทศพัฒนาใหม่ (Emerging Economy) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องขยายเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของโลกได้

สำหรับสาระสำคัญของการประชุมหลักครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิก IEA และประเทศพันธมิตรได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการด้านพลังงานก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมปีนี้ โดยกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานไว้ 3 ด้าน 1.การขยายขอบข่ายความร่วมมือด้านพลังงานของ IEA ไปยังประเทศพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก 2. การรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน รับมือสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

3.การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นอนาคตของการพัฒนาพลังงานโลก ให้เกิดความยั่งยืนและเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาภาคพลังงานให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดจากทั่วโลก พร้อมกำหนดมาตรการการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

“ที่ประชุมยังได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยถึงความสำเร็จในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ IEA ที่ให้ความสำคัญเรื่องการยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน เนื่องจากเป็นสาเหตุของการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง และบิดเบือนกลไกของตลาดที่แท้จริง” พล.อ.อนันตพรกล่าว