posttoday

บีโอไออัดมาตรการดันลงทุน 2 แสนล้าน

17 พฤศจิกายน 2558

บีโอไออัดมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีเร่งดันเงินลงทุนเข้าเศรษฐกิจ ปีหน้า 2 แสนล้าน เชื่อแนวโน้มปีหน้าสนใจเอกชนมั่นใจเพิ่มขึ้น ไม่สนยอดขอรับส่งเสริมต่ำเป้าย้ำโฟกัสกิจการเป้าหมายอนาคตประเทศไม่เน้นปริมาณ

บีโอไออัดมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีเร่งดันเงินลงทุนเข้าเศรษฐกิจ ปีหน้า 2 แสนล้าน เชื่อแนวโน้มปีหน้าสนใจเอกชนมั่นใจเพิ่มขึ้น ไม่สนยอดขอรับส่งเสริมต่ำเป้าย้ำโฟกัสกิจการเป้าหมายอนาคตประเทศไม่เน้นปริมาณ

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมกาประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนว่าภาครัฐได้มีการออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดให้เอกชนลงทุนจำนวนมากแต่เอกชนยังลงทุนน้อย จึงอยากเห็นให้เอกชนตัดสินใจลงทุนโดยเร็วเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ 

ทั้งนี้  ในการประชุมครั้งนี้บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติมาตรการเร่งรัดการลงทุนเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2559 เร่งลงทุน โดยมาตรการนี้ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และหลังการอนุมัติจากบอร์ดบีโอไอครั้งนี้มาตรการก็สามารถเดินหน้าได้ทันที 

“มาตรการของบีโอไอครั้งนี้จะเร่งให้เกิดการลงทุนในปี 2559 ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท  เมื่อรวมกับมาตรการของเร่งรัดการลงทุนของกระทรวงการคลังที่ให้สามารถนำเงินลงทุนมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าอีก คาดว่าจะเร่งให้เกิดการลงทุนอีก 1 แสนล้านบาท ดังนั้นทั้ง 2 มาตรการจะทำให้เกิดการลงทุนของเอกชนในปี 2559 ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท” นางหิรัญญา กล่าว

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า มาตรการนี้จะเร่งรัดการลงทุน ทั้งในพื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ทั่วไป จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มเติมโดยสามารถได้รับการยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปีแต่ไม่เกิน 8 ปีตามเงื่อนไขของบีโอไอ ซึ่งสำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินลงทุนจริงในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด ได้แก่ 1. กรณีที่มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 70% ของเงินลงทุนภายในเดือน มิ.ย.2559 สามารถขอรับการยกเว้นเพิ่มเติมจากที่ได้ไปก่อนหน้านี้อีก 4 ปี และลดหย่อนภาษีอีกนิติบุคคลต่ออีก 50 % เป็นเวลา 5 ปี

2.มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 50% ของเงินลงทุนภายในมิ.ย.2559 สามารถขอรับการยกเว้นเพิ่มเติมจากที่ได้ไปก่อนหน้านี้อีก 3 ปี และลดหย่อนภาษีอีกนิติบุคคลต่ออีก 50 % เป็นเวลา 5 ปี

3.กรณีมีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่า50% ของเงินลงทุนภายใน ธ.ค.2559 ได้รับสิทธิยกเว้นเพิ่มเติม 3 ปี และ ลดหย่อนภาษีฯ 50% อีก 5 ปี และ 4.มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่ถึง 50% ของเงินลงทุน ภายในธ.ค.2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 หากมีการลงทุนในพื้นที่ทั่วไปได้รับการยกเว้นภาษีฯเพิ่มเติมอีก 1 ปี และหากมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิยกเว้นภาษีฯเพิ่มเติมอีก 2 ปี

นางหิรัญญา กล่าวว่า มาตรการที่บีโอไออนุมัติล่าสุดที่ขยายไปยังนักลงทุนที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 เนื่องจากในปี 2557 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 2,320 โครงการ วงเงินลงทุนรวมกว่า 8.75 แสนล้านบาท แต่มีการลงทุนจริงน้อยเพียง 38% ของจำนวนโครงการทั้งหมดเท่านั้น ส่วนปี 2558ช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ได้รับอนุมัติจำนวน 362 โครงการ วงเงินลงทุน 48,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ในวันที่ 23 พ.ย.นี้บีโอไอจะจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนในรูปแบบของคลัสเตอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และได้เชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวปาฐกถาการชี้แจงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุน ที่มาเข้าร่วมประมาณ 2000 คน โดยนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงมาตรการต่างๆเพื่อชักชวนเอกชนให้ลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

“บีโอไอเห็นว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยนักลงทุนทุกวิถีทางแล้ว จนเต็มที่หมดทุกด้าน ตอนนี้จึงเหลือแค่การตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจากการพูดคุยกับนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอก็ได้คุยกับภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็เห็นถึงความมั่นใจของภาคเอกชนมากขึ้น และน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีเป็นแรงส่งให้การลงทุนในปี  2559 ขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี ”นางหิรัญญากล่าว

นางหิรัญญา กล่าวว่า สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกของปีนี้ เข้ามายังบีโอไอทั้งสิ้น 758 โครงการ มูลค่าลงทุน 155,000 ล้านบาท  ยอดอนุมัติให้การส่งเสริมฯ 1,769 โครงการ มูลค่าลงทุน 665,000 ล้านบาท  โดยในส่วนของยอดขอรับส่งเสริมฯ แม้จะยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 350,000 ล้านบาทอยู่มากแต่บีโอไอก็ไม่ปรับลดเป้าหมาย เพราะให้ความสำคัญกับกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมหากเป็นกิจการเป้าหมายที่เป็นอนาคตประเทศ 60% ของยอดขอรับส่งเสริมฯ ก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว เพราะเป้าหมายสำคัญจะอยู่ที่ประเภทกิจการมากกว่าปริมาณ 
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 37,516.6  ล้านบาท  ประกอบด้วยกิจการกิจการในกลุ่มกิจการด้านการเกษตร ขอ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำนวน 5 โครงการ ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตไข่ไก่และไก่รุ่น เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,439 ล้านบาท   บริษัท ที คิว  อินดัสทรีสตาร์ช จำกัด ได้รับการส่งเสริมในกิจการ ผลิตแป้งมันสำปะหลัง ( NATIVE STARCH ) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท

บริษัท ไวส์วูดส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง ( MEDIUM   DENSITY FIBERBOARD )  เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท บริษัท เมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดปาร์ติเกิลบอร์ด เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท บริษัท ไท่ผิง  เอทานอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตเอทานอล 99.5% และก๊าซชีวภาพ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท
 
กิจการในกลุ่มแร่ เซรามิกส์ ได้แก่  ประกอบด้วยบริษัท เซรามิค อุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตกระเบื้องเซรามิกส์    เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,573  ล้านบาท บริษัท เอเชีย แปซิฟิก กลาส จำกัด  ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตขวดแก้ว เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,464 ล้านบาท  บริษัท ไทย – เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด ( มหาชน ) ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตท่อเหล็กไร้สนิม (STAINLESS STELL TUBE OR PIPE) เงินลงทุนทั้งสิ้น 875.3 ล้านบาท

กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา ประกอบด้วย บริษัท ไทย ยูนิจิกะ สปันบอนด์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิต SPUNBOND NON-WOVEN FABRIC  เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,124.5  ล้านบาท     

กิจการบริการ และสาธารณูปโภค  ประกอบด้วย บริษัท  สยามเคเบิล โฮลดิ้ง  จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,500 ล้านบาท  และ บริษัท ไทยไลอ้อน  เมนทารี  จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,440.8 ล้านบาท