posttoday

จัดแพ็คเกจชุดใหญ่ดึงเงินลงทุน

03 พฤศจิกายน 2558

จัดอีกแพ็คเกจเร่งเอกชนลงทุน บวกสิทธิบีโอไอเว้นภาษีเพิ่ม 1-4 ปี ใช้เงินลงทุนหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

จัดอีกแพ็คเกจเร่งเอกชนลงทุน บวกสิทธิบีโอไอเว้นภาษีเพิ่ม 1-4 ปี ใช้เงินลงทุนหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนให้เกิดเร็วขึ้น  ทั้งส่วนที่เป็นมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และของกระทรวงการคลังซึ่งจะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่ยังคงมีความกังวลใจโดยเฉพาะจากเรื่องสถานการณ์การเมืองแล้วยังชะลอการลงทุนเอาไว้ ให้เร่งตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

"มาตรการที่ได้รับการอนุมัติในครั้งนี้เพื่อให้การตัดสินใจได้เร็วขึ้น และมีจุดประสงค์หลักคือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ของประเทศ จากที่ผ่านมาเอกชนเขารู้ว่าจะต้องลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแต่ไม่ลงทุนเพราะไม่มีสิ่งจูงใจ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการจูงใจออกมา ทั้งหมดนี้คือมาตรการที่ต้องการให้เกิดเงินลงทุนจริงๆ" นายสมคิด กล่าว 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อีกประเด็นที่ได้รับการอนุมัติคือการลดระยะเวลาการดำเนินการในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) ซึ่งที่ผ่านมาใช้เวลาในการพิจารณานานกว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ คือใช้เวลาถึง 1ปี 10เดือน ซึ่งหลังจากปรับกระบวนการทำงานตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้วจะร่นเวลาเหลือ 9 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้คือการปฏิรูปขั้นตอนการทำงานภาครัฐให้รวดเร็วมากขึ้น  ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหมดเพื่อรับทราบหลักเกณฑ์ของการปรับปรุงการทำงาน

อย่างไรก็ตาม  การปรับปรุงการทำงานส่วนนี้แล้วการผลักดันโครงการใหญ่ด้วยกฎหมายพิเศษ (ม.44) จะเสนอให้มีการใช้เท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น ส่วนในการดำเนินการเรื่องการปรับปรุงการทำงานและการให้บริการภาครัฐให้เร็วขึ้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมการสร้างเสริมความสะดวกในการประกอบธุรกิจ(Easing doing business)ในวันศุกร์ที่6 พ.ย.2558. นี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าในเรื่องนี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า  มาตรการเร่งรัดการลงทุนในปี 2558-2559 ที่ ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังและบีโอไอร่วมกันจัดทำนั้น   แบ่งเป็น 2 มาตรการ  มาตรการแรกสำหรับภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสิรมการลงทุนกอยู่แล้ว โดยต้องเป็นกลุ่มที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนระหว่าง  1ม.ค.2557-30มิ.ย.2559 และสามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี2560

สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกรณีมีการลงทุนดังนี้ กรณีที่ 1.หากมีการลงทุนจริงโดยก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักรภายในเดือนมิ.ย.2559 รวมไม่น้อยกว่า 70%ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก  4ปี  2.หากลงทุนจริงภายในเดือนมิ.ย.2559 ไม่น้อยกว่า 50% จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก  3ปี 

3.หากลงทุนจริงภายในเดือนธ.ค.2559  ไม่น้อยกว่า 50% จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี และ 4.หากมีการลงทุนจริงไม่ถึง 50% ภายในปี 2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี โดยทั้ง 4 กรณีที่ได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมรวมกับของเดิมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 8 ปี 

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า  สำหรับมาตรการที่2 เป็นโครงการลงทุนสำหรับเอกชนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอโดยทางกระทรวงการคลังกำหนดว่า หากมีการลงทุนในปีนี้ถึงสิ้นปี 2559 สามารถนำเงินลงทุนไปหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งการลงทุนที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้นั้นประกอบด้วยเครื่องจักร อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ สิ่งปลูกสร้าง และรถยนต์ซึ่งใช้ในกิจการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับส่วนนี้ผู้ที่ได้รับสิทธิบีโอไอหากเห็นว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการด้านการคลังมากกว่าก็สามารถเลือกใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่าแทนการรับสิทธิประโยชน์บีโอไอได้ โดยเอกชนต้องเลือกสิทธิพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องจดแจ้งขอใช้สิทธิ์กับกรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธ.ค.2558               

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยการลงทุนภาคเอกชนหายไปนาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตด้อยลง  เพราะไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ และกระทบกับการส่งออก  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จึงต้องออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนเพิ่มเติม โดยในส่วนของการหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเงินลงทุนส่วนนี้เป็นได้ทั้งลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สิ่งปลูกสร้างและรถยนต์ที่นำมาใช้งานในธุรกิจไม่ใช่ส่วนตัวซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย และมาตรการเร่งการลงทุนครั้งนี้จะเป็นผลดีให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม  ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในระยะยาว