posttoday

"บิ๊กตู่"เอาจริงเร่ง'โซนนิ่งพื้นที่เกษตร'

14 ตุลาคม 2558

นายกฯ สั่งมหาดไทยเกษตรฯ สำรวจความคิดเกษตรกร หากรัฐจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร

นายกฯ สั่งมหาดไทยเกษตรฯ สำรวจความคิดเกษตรกร หากรัฐจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งลงพื้นที่ไปชี้แจงและถามความเห็นเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งว่า ต้องการที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรบ้างเพิ่มเติม เพื่อต้องการให้การช่วยเหลือตรงใจกับประชาชนมากที่สุด และให้รวบรวมความเห็นเสนอกับมายัง ครม.ภายใน 30 วัน

ขณะเดียวกัน ให้หารือและถามความเห็นกลับเกษตรกรถึงแนวทางที่รัฐบาลจะใช้การโซนนิ่งพื้นที่เกษตรด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร

"นายกฯ กำชับว่านอกจากไปถามประชาชนว่าจะให้ช่วยเหลืออะไรแล้ว ให้ใช้โอกาสนี้ถามประชาชนเรื่องการโซนนิ่งด้วยว่าเกษตรกรเห็นอย่างไร โดยพืชที่จะส่งเสริมจะต้องเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ศึกษาไว้หรือพื้นที่โซนนิ่งเพื่อจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มของพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ซึ่งไอเดียนี้รองนายกฯ สมคิด ได้หารือกับ ครม.ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน และนายกฯ ได้ให้ไปลองถามประชาชนดู จะได้มีข้อคิดเห็นของประชาชนกลับมาพร้อมกับโครงการที่ประชาชนต้องการให้ช่วยเหลือ แต่ยังไม่ลงรายละเอียดแต่อย่างใด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในเบื้องต้นที่มีการหารือ เช่น รัฐจะจูงใจโดยการช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต การเชื่อมโยงตลาด และรัฐเป็นผู้รับซื้อหลังจากผลผลิตขายได้ก็จะมีการปันผลกำไรให้เกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าเคยมีการพูดเรื่องนี้ แต่เมื่อรัฐต้องรับซื้อผลผลิตและหาตลาดจำหน่าย สุดท้ายเกรงว่าจะไปซ้ำรอยโครงการรับซื้อข้าว จึงยังไม่มีการพูดเรื่องนี้ แต่เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเกษตรในอนาคตที่จะใช้นโยบายโซนนิ่งเข้ามาขับเคลื่อนภาคเกษตร นายกรัฐมนตรีจึงให้เตรียมทำข้อมูลไว้ เพราะหากไม่ปรับระบบการผลิตอนาคตเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยจะแข่งกับเพื่อนบ้านลำบาก เพราะต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น

ก่อนหน้ากรมพัฒนาที่ดินได้ระบุว่า มีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว 12 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่