posttoday

เปิดเกณฑ์ละเลงลงทุน ทีดีอาร์ไอ...ห่วง "งบโป่ง"

07 ตุลาคม 2558

เมื่อรัฐบาลต้องการให้เงินลงสู่ระบบเร็ว การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การเปิดประมูลอาจทำให้ราคา "โป่ง" กว่าความเป็นจริง

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

พลันที่มีการเผยรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติจัดสรรงบกลาง 2558 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ กรอบวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ก็เกิดคำถามว่าบางโครงการคุ้มค่าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการทั้ง 11 ข้อที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้หรือไม่

เพราะหากพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการคัดเลือกโครงการ ซึ่งประกอบด้วย 1.เป็นรายการซึ่งมีลักษณะเป็นรายจ่ายภายใต้งบลงทุน งบเงินอุดหนุน และรายจ่าย อื่นๆ 2.เป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานรายย่อยในประเทศ 3.สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล 4.มีวงเงินต่อรายการไม่เกิน 1 ล้านบาท

5.เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การบริหารจัดการน้ำของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตของชุมชน 6.เป็นรายการที่ชุมชนดูแลรักษาได้ และใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

7.สถานที่ดำเนินการควรเป็นสถานที่สาธารณะที่มีหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์...8.เป็นรายการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2558 และปี 2559 จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9.เป็นโครงการที่กระจายลงพื้นที่อย่างทั่วถึง

10.เป็นรายการหรือภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ทั้งนี้ ไม่ควรเป็นรายการจัดหาครุภัณฑ์

และ 11.เป็นรายการที่ดำเนินการโดยวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่งเสริมกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ OTOP ในพื้นที่หรือก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558

โดยจะพบว่าเพียงแค่โครงการมีวัตถุประสงค์เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะได้รับการอนุมัติจาก “คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดโครงการ” แล้ว

เปิดเกณฑ์ละเลงลงทุน ทีดีอาร์ไอ...ห่วง "งบโป่ง"

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารรายการโครงการที่ได้รับอนุมัติพบว่าโครงการที่คุ้มค่าและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทั้ง 11 ข้อ เช่น โครงการปรับปรุงต่อเติมอาคารอเนกประสงค์ด่านศุลกากรกันตัง จ.ตรัง 3.16 แสนบาท

งานปรับปรุง Smart Office สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่เชียงใหม่ 6.67 หมื่นบาท งานขยายพื้นที่โรงฝึกงานช่างยนต์ วิทยาลัยการอาชีพหลวงประธานราษฎร์นิกร 2.06 แสนบาท งานซ่อมแซมถนนเพื่อการเกษตร บ้านห้วยเป้าเหนือ หมู่ 7 อ.หนองหิน จ.เลย 4.39 แสนบาท และงานสร้างลานตากข้าวคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านมะเมียงใต้ หมู่ 12 ต.ปราสาท อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 5.01 แสนบาท เป็นต้น 

แต่ทว่ามีโครงการที่อาจไม่คุ้มค่านักและไม่น่าจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน หรือเป็นโครงการที่กระจายลงพื้นที่อย่างทั่วถึงและไม่ใช่การจัดซื้อครุภัณฑ์

เช่น งานทาสีบริเวณเขื่อนริมน้ำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรุงเทพฯ 5 แสนบาท งานปรับปรุงทาสีรั้วอาคารสำนักงานธนารักษ์พื้นที่บุรีรัมย์ 1 แห่ง 1.58 แสนบาท งานทาสีรั้วบ้านพักศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ 8.91 แสนบาท

รวมถึงโครงการก่อสร้างป้อมยามและป้ายชื่อโรงเรียนกีฬา จ.นครนายก 1 แห่ง 9.07 แสนบาท ซ่อมแซมป้ายโครงการชลประทานขนาดเล็ก จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 50 ป้าย 7.5 แสนบาท หรือป้ายละ 7.5 หมื่นบาท ก่อสร้างรั้ว ป้ายและเสาธง สำนักงานปศุสัตว์ จ.พัทลุง 4.18 แสนบาท สร้างโรงจอดรถบริเวณบ้านพักนายอำเภออินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 1 แห่ง 2.05 แสนบาท และติดตั้งตู้เก็บเอกสาร ที่ว่าการอำเภอโนนศิลา จ.ขอนแก่น 9.4 หมื่นบาท    

“เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการให้มีการกระจายเม็ดเงินเหมือนโครงการมิยาซาว่า เพราะโครงการลงทุนขนาดเล็กจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง ส่วนโครงการที่อนุมัติดำเนินการจะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่วิธีการจัดลำดับความสำคัญในการคัดเลือกโครงการ แต่ถ้าโครงการไหนมองแล้วว่าไม่คุ้มค่าก็น่าจะทบทวนได้” อิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบลงทุนขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อิสร์กุล เสนอว่า รัฐบาลต้องดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส เพราะเมื่อรัฐบาลต้องการให้เงินลงสู่ระบบเร็ว การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเปิดประมูลอาจทำให้ราคา “โป่ง” กว่าความเป็นจริง เช่น การสร้างโรงจอดรถต้นทุนจริงอาจไม่เกิน 2 แสนบาท แม้ว่าจะตั้งราคากลางที่ 3 แสนบาท แต่เมื่อเปิดประมูลผู้รับเหมาอาจเสนอแข่งขันจนทำให้ได้ราคาใกล้เคียง 2 แสนบาทก็ได้ แต่หากไม่มีการแข่งขันราคาอาจโป่งเป็น 3 แสนบาทเท่ากับราคากลางหรือแพงกว่าปกติ 50%

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยของ อิสร์กุล ก็มีความเป็นไปได้ เพราะเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2558 คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) มีมติเห็นชอบยกเว้นระเบียบพัสดุฯ ปี 2535 และ ครม.ได้เห็นชอบแล้วส่งผลให้โครงการที่มีวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท สามารถซื้อหรือจ้าง “โดยวิธีตกลงราคา” ได้ และหากเป็นโครงการเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท สามารถจัดซื้อจัดจ้าง “โดยวิธีการสอบราคา” เป็นต้น 

จึงต้องติดตามดูว่าจะมีใครกล้าท้าทายนโยบายปราบทุจริตคอร์รัปชั่นของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่