posttoday

"ฉัตรชัย"มั่นใจไอยูยูแจงอียู7ก.ย.ผ่านฉลุย

04 กันยายน 2558

รมว.เกษตรฯ เผยทีมชี้แจงไอยูยู มั่นใจ ชี้แจงอียู 7ก.ย.จะผ่านฉลุย สั่งทำฐานข้อมูลทะเบียนเรือใหม่ทั้งประเทศ ทำงานคู่ขนาน ศปมผ.

รมว.เกษตรฯ เผยทีมชี้แจงไอยูยู มั่นใจ ชี้แจงอียู 7ก.ย.จะผ่านฉลุย สั่งทำฐานข้อมูลทะเบียนเรือใหม่ทั้งประเทศ ทำงานคู่ขนาน ศปมผ.
 
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุมหรือไอยูยู ที่สภาพยุโรป ได้ให้ใบเหลือง ทางมีงานของประเทศไทยมั่นใจว่าสามารถที่จะชี้แจงและทำให้ไทยถูกปลดจากใบเหลือง หรือต่ออายุใบเหลืองได้แน่นอน ซึ่งจะชี้แจงต่ออียูในวันที่7ก.ย.นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้หารือกับอียูเป็นระยะและทางการไทยได้แสดงความตั้งใจต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมประมงไปทบทวนตัวเลขการขึ้นทะเบียนเรือทั้งประเทศใหม่ทั้งหมด แม้จะมีการรายงานต่อศูนย์ปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายไอยูยู หรือศปมผ.ไปแล้วให้แล้วเสร็จภายใน 1เดือน และให้แยกประเภทมาให้ชัด เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสำหรับมาแก้ไขปัญหาเรือประมงของไทยว่าจะต้องมีการเยียวยาหรือช่วยเหลืออะไรบ้าง เนื่องจากขณะนี้ชาวประมงเดือดร้อนทั่วประเทศจากมาตรการของหน่วยงานรัฐที่มุ่งแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู ที่เป็นการแก้ไขปัญหาทำประมงและการค้า
 
“ที่รายงานศปมผ.แล้วก็รายงานไป แต่ให้ทำรายละเอียดใหม่ที่ชัดเจนออกมา เป็นชุดสำหรับแก้ไขปัญหาของเรา โดยเฉพาะการแก้ไขการทำประมงเกินศักยภาพทะเลหรือโอเวอร์ฟิชชิ่ง เพราะตอนนี้บางพื้นที่งดทำประมงและชาวบ้านเดือดร้อนก็จะได้นำมาดูและพิจารณาแก้ไข “ รมว.เกษตรฯกล่าว
 
สำหรับปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนหรืออีเอ็มเอสนั้น ได้ให้กรมประมงไปเร่งดำเนินการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ต้านทานโรคอีเอ็มเอส เพื่อเพิ่มปริมาณลูกกุ้งในประเทศ ซึ่งอาจจะต้องมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์เพิ่มเติมจากที่ทำมา  และให้กรมประมงกำหนดเป้าหมายว่าภายในปีไหนที่โรคนี้จะหมดไปเพื่อจะได้ทำภารกิจให้สอดรับเป้าหมาย เช่นต้องหมดภายในปี  59 ก็จะได้จับภารกิจและงบประมาณ ไม่ควรแก้ไขโดยไม่มีการกำหนดเป้าหมาย อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทราบว่าสถานการณ์ดีขึ้นโดยอัตรารอดของกุ้งเพิ่มขึ้นประมาณ20%  ของเป้าหมายของปี 58 ที่กำหนดไว้ประมาณ  2.5 แสนตัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้ากรมประมงสมัยนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล เป็นอธิบดีกรมประมง ปี  2556   คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาร 80 ล้านบาท ให้มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากอเมริการใต้  2 พันคู่วงเงิน  3 ล้านบาทเศษและที่เหลือสำหรับฟื้นฟูและพัฒนาศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่กรมได้เลิกภารกิจไป เพื่อพัฒนาพันธุ์กุ้งเพื่อป้อนงเกษตรกรอีกครั้ง