posttoday

เจาะตลาด‘เวียดนาม’ ต้องผูกคอนเนกชั่นท้องถิ่น

09 สิงหาคม 2560

"เวียดนาม" เป็นประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ทำให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีกำลังซื้อ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

"เวียดนาม" เป็นประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ทำให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีกำลังซื้อ และสังคมชนชั้นกลางขยายเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ของเวียดนามอยู่ในวัยทำงาน จึงทำให้เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีการคาดการณ์ว่าอีก 10-15 ปีข้างหน้า มูลค่าจีดีพีของเวียดนามจะโตกว่านี้อีก 2 เท่าตัว

ธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไปสาขาประเทศเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพ ผู้ที่ดูข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในเวียดนาม บอกว่า อนาคตตลาดเวียดนามจะใหญ่กว่าไทยแน่นอน เพราะการที่เริ่มเปลี่ยนจากธุรกิจแบบดั้งเดิมสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ดังนั้นจึงต้องใช้โอกาสที่คนเวียดนามยังนิยมชมชอบสินค้าไทยอยู่ไปบุกตลาดเวียดนามให้ได้

ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามมีแรงจูงใจยั่วยวนให้นักลงทุนและนักธุรกิจจากต่างชาติเข้าไปมาก แต่การจะเข้าไปตลาดเวียดนามนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเทรนด์โตแน่ เพียงแต่ต้องใช้เวลา และพฤติกรรมของคนเวียดนามก็ไม่เหมือนคนเมียนมา หรือกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ทุกอย่าง เพราะอย่างนี้ใครที่คิดว่าจะหิ้วกระเป๋าขนสินค้าเข้าไปขายเฉยๆ หรือคิดจะไปแบบลูกทุ่ง หิ้วกระเป๋าข้ามชายแดนไปคงไม่ได้ อาจจะขายของได้แต่โอนเงินกลับประเทศไม่ได้ เพราะโดนบล็อกไว้หมดแล้ว

"การเข้าตลาดเวียดนามในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ นับว่าเวียดนามเป็นตลาดที่เข้ายากตลาดหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะอาศัยตัวแทนกระจายสินค้า (ดิสทริบิวเตอร์) ท้องถิ่นเพื่อช่วยกระจายสินค้าให้ ซึ่งวิธีการเข้าไปตลาดเวียดนามที่ดีที่สุด คือ เข้าไปอยู่ ไปดูตลาด และพฤติกรรม ผู้บริโภคให้นานๆ เพราะการทำธุรกิจในเวียดนามต้องอาศัยการสะสมความรู้และคอนเนกชั่นท้องถิ่น ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก" ธาราบดี กล่าว

เมื่อเห็นโอกาสและพร้อมที่จะเข้าไปลงทุน ขอแนะนำว่า ให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่นั่นเพื่อทำการค้า (เทรดดิ้ง) โดยอาจจะตั้งเป็นสำนักงานสาขาแล้วนำเข้าสินค้าจากไทยเข้าไปขาย เพราะจากหลายๆ บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่จดทะเบียนบริษัท หรือจดทะเบียนตราสินค้า เมื่อสินค้าเป็นที่นิยมหรือทำมานานแค่ไหน พอมีคนอื่นมาจดไปก็จะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นในเวียดนามไม่ได้อีก

ธาราบดี แนะนำเพิ่มเติมเรื่องการเงินอีกว่า ในเวียดนามเรื่องการชำระเงินไม่มีเรื่องการทำเช็คเคลียริ่ง ผู้ประกอบการไม่สามารถสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินได้ ปัจจุบันชาวเวียดนามยังใช้การโอนเงินระหว่างธนาคารอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามมีการตั้งเป้าให้หากธุรกรรมที่มีการซื้อขายสินค้าเกิน 20 ล้านด่อง ห้ามจ่ายเป็นเงินสดเด็ดขาด ต้องใช้การโอนเงินระหว่างบัญชี ระหว่างธนาคาร หรือธนาคารเดียวกันเท่านั้น

นอกจากนี้ คนเวียดนามใช้อินเทอร์เน็ตถึง 50 ล้านคน ในนั้นมีถึง 35 ล้านคนใช้อี-คอมเมิร์ซ ปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเริ่มใช้อี-คอมเมิร์ซในเวียดนาม และยังตั้งเป้าให้ปี 2563 มีการช็อปปิ้งออนไลน์ต่อการใช้จ่ายต่อหัวประชากรถึง 250 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันชาวเวียดนามมีบัตรเอทีเอ็ม 110 ล้านใบ เกิน 85% ใช้เพื่อการถอนเงิน โดย 14% ใช้เพื่อการโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม 1% เป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเอทีเอ็ม

อย่างไรก็ดี การเข้าไปลงทุนในเวียดนามก็มีข้อดีอยู่มาก ทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามที่อำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน และมีชนชั้นกลางประมาณ 15 ล้านคน รวมทั้งยังมียอดขายที่โตเฉลี่ยปีละ 10-15%

ล้วนเป็นเสน่ห์ที่น่าจูงใจให้ผู้ประกอบการมองข้ามข้ออุปสรรคไป