posttoday

เศรษฐกิจเวียดนาม หวังโอกาสฟื้นตัวไตรมาส4

20 ตุลาคม 2559

ในช่วงเวลานี้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับจ้องสถานการณ์เศรษฐกิจของเวียดนาม

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

ในช่วงเวลานี้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับจ้องสถานการณ์เศรษฐกิจของเวียดนาม หลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้านในปีนี้ จนทำหลายฝ่ายต่างหวั่นวิตกว่าผลผลิตมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เวียดนามในปีนี้มีโอกาสโตต่ำกว่าเป้า

สถาบันเศรษฐกิจและวิจัยนโยบายเศรษฐกิจแห่งเวียดนาม (วีอีพีอาร์) เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 3 ของเวียดนามขยายตัวอยู่ที่ 6.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากจีดีพีในไตรมาส 2 ชะลอตัวลง ส่งผลให้จีดีพีรวมในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 6.7% ขณะที่เงินเฟ้อในภาพรวมยังโตต่ำกว่า 5% ตามยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

เหงียนดึ๊ก ถานห์ ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและวิจัยนโยบายเศรษฐกิจแห่งเวียดนาม กล่าวว่า การฟื้นตัวของจีดีพีในไตรมาส 3 นั้น ปัจจัยหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งราว 6.4% และ 11.2% ตามลำดับ ขณะที่การหดตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่จากภัยธรรมชาติยังฉุดการขยายตัวของจีดีพีอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3

สอดคล้องกับผลวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่า ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจชาติที่มีส่วนแบ่งจีดีพีถึง 12% นั้นโตเพียง 0.05% ในไตรมาส 3 ประกอบกับอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมป่าไม้ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในเดือน ก.ย.นั้นอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และป่าไม้ขยายตัวเพียง 0.65% นับว่าต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสนี้หดตัวลงจากการปลดพนักงานภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสัญญาณที่ดีจากการขยายตัวของธุรกิจเกิดใหม่ รวมถึงแหล่งทุนแห่งใหม่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ประกอบกับการฟื้นตัวของมูลค่าการค้าที่กลับมาขยายตัว 8.3% จากภาคการส่งออก ซึ่งหากต้องการให้จีดีพีปีนี้ออกมาตามเป้าที่ตั้งไว้ของรัฐบาล เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของเวียดนามต้องขยายตัวถึง 8.3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคาดจะเป็นไปได้ยาก จากค่าเฉลี่ยจีดีพีที่ผ่านมาในปีนี้อยู่ที่เพียง 6-7%

ฮะกว๋างเทวียน ผู้อำนวยการสำนักงานบัญชีประชาชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามมีโอกาสสูงที่จะโตต่ำกว่า 6.7% หลังจากจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 6.4% ขณะที่จีดีพีในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 โตเพียง 5.48% และ 5.78% ตามลำดับส่งผลให้โอกาสที่เศรษฐกิจจะรีบาวด์ขยายตัวทะลุเป้าในไตรมาส 4 เป็นไปได้ยาก ขณะที่กำลังหลักของเศรษฐกิจเวียดนามอย่างภาคเกษตรกรรมโตเพียง 0.65% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้จากปัญหาภัยแล้งในประเทศถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี สอดคล้องกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้จะขยายตัวเพียง 6% ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับจีดีพีเวียดนามจาก 6.7% เหลือเพียง 6% จากปัญหาภัยแล้งในภาคเกษตรและการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ สถาบันเศรษฐกิจและวิจัยนโยบายเศรษฐกิจแห่งเวียดนามยังระบุว่า การขยายตัวยอดปล่อยเงินกู้ของธนาคารเวียดนามในไตรมาสนี้ยังเป็นไปตามเป้าของรัฐบาล ที่คาดการณ์ปริมาณขยายตัวในปีนี้ไว้ที่ 18-20% เพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้ ที่ยอดปล่อยกู้โตถึง 10.2% มูลค่ารวม 7.7 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่า 90% เป็นสินเชื่อคงค้างในระบบ ขณะที่การปล่อยกู้ในระยะยาวมีสัดส่วนราว 55.9% ของการปล่อยกู้ทั้งหมด

เหงียน หว่างแอง รองผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและการค้านานาชาติ มหาวิทยาลัยฮานอย กล่าวว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ในเวียดนามพากันปรับรูปแบบให้เล็กลง เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ต่างออกไปขยายตลาดนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในเวียดนามจนทำให้ยอดเงินเอฟดีไอในปีนี้โตทะลุเป้า

ราเกซ ซิงค์ สมาคมสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ มองว่าเวียดนามยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดี แม้จีดีพีปีนี้จะชะลอตัวก็ตาม โดยเวียดนามยังเป็นทำเลทองของการลงทุนด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6% ต่อปี และจากกำลังซื้อของประชากรเวียดนามที่เติบโตทุกปี ทำให้ธุรกิจที่เอสเอ็มอีน่าเข้าไปลงทุน ได้แก่ ธุรกิจบริการทั้งด้านสุขภาพ สปา ร้านอาหารและโรงแรมเพื่อรองรับการเติบโตของมูลค่าการบริโภคในประเทศ และการเพิ่มจำนวนของประชากรรายได้สูงในเวียดนาม ขณะที่อุตสาหกรรมการรับช่วงผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่คนไทยมีประสบการณ์มากก็ยังไปได้สวย

ตลอดจนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่สามารถอาศัยช่องทางกระจายสินค้ากับกลุ่มบริษัทบิ๊กซีและเซ็นทรัลที่เข้าไปเปิดตลาดร้านค้าปลีกในเวียดนาม