posttoday

12 นโยบายรัฐบาลซูจี ดูดนักลงทุนเข้าประเทศ

28 กันยายน 2559

เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั่วโลกเป็นโดมิโน ไม่เว้นแม้กระทั่งตลาด “เมียนมา”

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั่วโลกเป็นโดมิโน ไม่เว้นแม้กระทั่งตลาด “เมียนมา” ที่ถูกยกให้เป็น “แม่เหล็ก” ในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ประกอบกับเมียนมาเพิ่งผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมาได้ไม่นาน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของเมียนมาเป็นที่จับตากันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนผ่านนโยบายด้านการค้าและการลงทุนว่าจะออกมาอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศนั้นๆ มีส่วนสำคัญเอื้อต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ผกายเนติ์ เล่งอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมา เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดใหม่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่มี อองซานซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐนั้น เพิ่งประกาศนโยบายหลักด้านเศรษฐกิจ 12 ประการ ออกมาเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา

นโยบายทั้ง 12 ประการ ได้แก่ 1.สร้างความโปร่งใสในระบบการเงินสาธารณะ 2.แปรรูปกิจการของรัฐบาล 3.ยกระดับคุณภาพการศึกษา/อาชีวศึกษา 4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5.สร้างโอกาสงานให้ประชาชน พร้อมดึงแรงงานคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศ 6.พัฒนาการภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก 7.พัฒนาภาคเอกชนโดยเปิดเสรีทำธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ 8.สนับสนุนเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรให้เข้าถึงระบบการเงิน 9.สร้างเมืองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยกระดับการบริการของรัฐ เพิ่มพื้นที่สาธารณะและรักษามรดกทางวัฒนธรรม 10.ปรับระบบภาษีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล 11.สนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญา และ 12.พัฒนาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจประชาคมอาเซียน

ขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการบริหารประเทศ โดยลดจำนวนกระทรวงจาก 36 กระทรวง เหลือ 21 กระทรวง มีการควบรวมและแบ่งหน่วยงานให้ขึ้นตรงใหม่อีกด้วย

“นักธุรกิจและนักลงทุนต่างก็ชะลอการลงทุน เพื่อรอดูท่าทีรัฐบาลใหม่ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2558 จึงทำให้เศรษฐกิจในเมียนมาในช่วงที่ผ่านมาไม่คึกคักเท่าที่ควร และนโยบายการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจยังมีความเชื่องช้า และเป็นเหมือนวลีสวยงามในอากาศจับต้องไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ระบุเป้าหมายชัดเจน วิธีการนำมาปฏิบัติให้เป็นจริง ตลอดจนไม่มีการกำหนดช่วงเวลาในการดำเนินการ” ผกายเนติ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในช่วงนี้อีก เช่น การขาดสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้า เพื่อนำมาป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ยังขาดแคลน รัฐบาลชะลอโครงการ/ระงับการให้สัมปทานชั่วคราว ขาดแรงงานมีทักษะฝีมือ ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า กระโดดจากลำดับที่ 66 ในปี 2557 เป็น 28 ในปี 2558 เฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่าและราคาขายที่ดินสูงมาก

ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศก็ยังมีอยู่ เช่น ยังคงมีการแซงก์ชั่นจากยุโรปและอเมริกา เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่อุปทาน ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง ทำให้รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี เมียนมายังมีโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทยอยู่ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจการค้า (เทรดดิ้ง) ในเมียนมาได้แล้วใน 5 รายการ ได้แก่ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง

อีกทั้งรัฐบาลเมียนมายังเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้า บำรุงรักษาทางหลวงชนบทและการพัฒนาท่าเรือ ส่งเสริมภาคการเกษตรและปศุสัตว์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเปิดตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง YSX ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพพอที่จะเข้าไปแข่งขันได้

โดยประเทศไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 4 มีจำนวนโครงการสะสมทั้งหมด 58 โครงการ รวมมูลค่า 3,425 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจากจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง สำหรับประเทศไทยได้เข้ามาลงทุนในเมียนมา ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บริการ (โรงแรม ความงาม) เสื้อผ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้างและคลินิกความงาม เป็นต้น