posttoday

เครื่องนุ่งห่มไทย ใช้CLMVฐานผลิตอีกรอบ

07 กันยายน 2559

แนวโน้มที่จะเห็นภาพการยกขบวนย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยไปปักหมุดยังประเทศเพื่อนบ้านในปีนี้น่าจะมีให้เห็นกันอีกรอบ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

แนวโน้มที่จะเห็นภาพการยกขบวนย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยไปปักหมุดยังประเทศเพื่อนบ้านในปีนี้น่าจะมีให้เห็นกันอีกรอบ

หลังจากในช่วงก่อนหน้านี้ กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเบอร์ต้นๆ ของวงการได้ย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปีไปรอบบ้าน เพื่อหนีปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงานที่สูง อีกทั้งยังเป็นการรุกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ในการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อชิงความได้เปรียบในส่วนที่ไทยสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันไป

วัลลภ วิตนากร ประธานบริหารไฮเทคกรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของไทย ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า ในปีหน้ามีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยจะตัดสินใจขยายฐานการผลิตออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

จากเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มไทยกว่า 30 รายย้ายไปลงทุน เพื่อตอบสนองผู้ซื้อในตลาดหลักที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มที่มูลค่าการส่งออกจากการออกไปลงทุนยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้ที่มีมูลค่าส่งออกรวมกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

“กลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่ย้ายไปลงทุนเพื่อนบ้านก่อนหน้านี้มีแนวโน้มที่มีมูลค่าการส่งออกรวมสูงกว่าการส่งออกจากโรงงานที่ผลิตในประเทศไทยแล้ว เพราะเริ่มมีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้ว และโรงงานเหล่านั้นก็มีกลุ่มลูกค้าในอนาคตอยู่แล้ว เพราะถ้าต้นทุนในไทยสูงขึ้น ลูกค้าก็ต้องหันไปนำเข้าจากโรงงานที่ผลิตในเพื่อนบ้านแทน เพราะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวียังได้สิทธิจีเอสพีอยู่” วัลลภ กล่าว

สำหรับตลาดสิ่งทอเอง แนวโน้มการขยายฐานการผลิตส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ซึ่งในอนาคตจะเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกลุ่มสิ่งทอไทย เนื่องจากมีความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) แม้ว่าเวียดนามจะมีการขยายตัวในอุตสาหกรรมสิ่งทอสูง แต่โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมสิ่งทอในเวียดนามก็ยังมีสัดส่วนเพียงแค่ 20% ที่เหลืออีก 80% เป็นกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม

วัลลภ อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการสิ่งทอมองว่า ในอนาคตการส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ตลาดเครื่องนุ่งห่มในประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัว โดยเฉพาะเวียดนาม ทว่าในประเทศซีแอลเอ็มวียังมีการลงทุนโรงงานต้นน้ำในกลุ่มสิ่งทอน้อย จึงทำให้ต้องมีการนำเข้าจากไทย ส่งผลให้การส่งออกสิ่งทอไทยไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเทศจีนกลายเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เนื่องจากจีนเริ่มมีการขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเข้ามาในตลาดอาเซียนเช่นเดียวกับไทยแล้ว

นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5 ประเทศ) ของไทยมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีสัญญาณที่ติดลบอย่างหนัก โดยข้อมูลการส่งออกของไทยในตลาดอาเซียนเดือน มิ.ย. 2559 ติดลบถึง 5.8% และภาพรวม 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2559) ก็ติดลบมากถึง 23% และยังมีแนวโน้มที่จะติดลบอย่างต่อเนื่อง โดยมีจีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่ส่งสินค้าและเข้ามาลงทุนที่มีลักษณะคล้ายกับสินค้าไทยในตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การส่งออกในตลาดอาเซียน (9 ประเทศ) 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2559) ติดลบมากถึง 23% โดยสิงคโปร์ติดลบมากที่สุด ติดลบ 49.7% บรูไนติดลบ 26.6% ฟิลิปปินส์ติดลบ 21.5% กัมพูชาติดลบ 19.4% อินโดนีเซียติดลบ 16.6% มาเลเซียติดลบ 12.8% เมียนมาติดลบ 7% เวียดนามติดลบ 6.8% และ สปป.ลาว ติดลบ 4.9%