posttoday

สร้างโอกาสให้ธุรกิจ กับรถไฟเร็วสูงคุนหมิง-สิงคโปร์

07 กันยายน 2560

โครงการรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-สิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งในแผนการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีนกับอินโดจีนตามแผนยุทธศาสตร์หลัก Belt and Road Initiative

โดย...Economic Intelligence Center

โครงการรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-สิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งในแผนการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีนกับอินโดจีน (China Indochina Peninsula Economic Corridor) ตามแผนยุทธศาสตร์หลัก Belt and Road Initiative โดยมีเส้นทางครอบคลุม 5 ประเทศ เริ่มต้นจากคุนหมิงของจีน ผ่านเวียงจันทน์ของลาว มายังหนองคายของไทย และเชื่อมต่อไปภาคใต้ของไทยผ่านกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเข้าสู่สิงคโปร์ รวมระยะทางทั้งหมดราว 3,900 กม.

ปัจจุบัน มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างเตรียมหรือกำลังก่อสร้าง ได้แก่ เส้นทางรถไฟในลาว 427 กม. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. และเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ 350 กม. ส่วนเส้นทางที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจา เช่น นครราชสีมา-หนองคาย ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น

โครงการนี้มีความสำคัญต่อจีนและประเทศในอาเซียนหลายๆ ด้าน ได้แก่ 1) การเชื่อมต่อทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวที่มากขึ้น โดยมูลค่าการค้าระหว่าง 5 ประเทศในปี 2016 อยู่ที่ราว 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโต 3% ต่อปี ส่วนการเดินทางระหว่าง 5 ประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน และคาดว่าจะเติบโต 5% 2) เส้นทางรถไฟดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road Economic Belt) ซึ่งเป็นประตูไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรป และ 3) เนื่องจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าลงทุนสูง ทำให้การให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินหรือการสนับสนุนทางด้านเทคนิคจากจีน เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยก่อให้เกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายอย่างสมบูรณ์ได้

ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่างอนุภูมิภาคนี้ยังอยู่ใน 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1) ทางถนน ซึ่งใช้ในการขนส่งระหว่างจีน ลาวและไทย เช่น เส้นทาง R3A ซึ่งขนส่งจากเชียงรายไปยังคุนหมิง 2) ทางเรือ ซึ่งเป็นรูปแบบขนส่งหลักระหว่างจีนกับไทยหรือกับมาเลเซียหรือกับสิงคโปร์ เช่น การขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือกว่างโจว 3) ทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งระหว่างไทยไปมาเลเซีย และระหว่างมาเลเซียไปสิงคโปร์ และ 4) ทางอากาศ ซึ่งนิยมใช้สำหรับขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อัญมณี เครื่องประดับ ขณะที่การขนส่งผู้โดยสารยังอยู่ใน 2 รูปแบบ คือ รถยนต์และเครื่องบิน

ในอนาคต ด้วยความได้เปรียบทั้งด้านค่าขนส่งและเวลา การขนส่งด้วยรถไฟเส้นนี้มีโอกาสที่จะพลิกโฉมด้านการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะช่วงเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการขนส่งตู้สินค้าขนาด 40TEU แบบเหมาตู้ ในทุกๆ รูปแบบการขนส่ง พบว่า การขนส่งทางรางมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท และใช้เวลาน้อยสุดคือ 2-3 วัน

ทั้งนี้ สินค้าที่มีแนวโน้มขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น ได้แก่ แร่เหล็กและทองแดงจากลาว ผัก ผลไม้ และดอกไม้จากไทยไปยังคุนหมิง และสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งจากผู้ผลิตไทยและจีน ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะยังคงใช้การขนส่งในรูปแบบเดิม ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนพลาสติก เนื่องจากโรงงานของผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออกของจีนที่อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือในแต่ละเมืองมากนัก

เมื่อหันกลับมามองไทย ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างไทยไปจีนโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก เช่น คุนหมิง เฉิงตู ควรเตรียมปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ผู้ให้บริการขนส่งด้วยรถบรรทุกควรพัฒนาเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การแพ็กเกจสินค้า การขนส่ง การติดต่อกับศุลกากร การบริการคลังสินค้าและพึ่งพาระบบรางมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในภาคเหนือของไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางให้บริการ จากการขนส่งทางถนนเป็นการขนส่งไปเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟในลาวแทน

ในส่วนผู้ผลิตสินค้า การเชื่อมต่อใหม่ที่เกิดขึ้น แม้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแข่งขันของสินค้าจากจีน แต่จะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตขยายตลาดไปยังลาว จีนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูง คุนหมิง-สิงคโปร์ ตามแผนยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative จะสร้างประโยชน์ต่ออาเซียนในหลายมิติ ทั้งด้านการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนด้านราคาและเวลาที่ลดลง เกิดการหมุนเวียนและกระจายสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สร้างทางเลือกสำหรับการเดินทางภายในภูมิภาค และท้ายที่สุดจะช่วยกระจายความเป็นเมือง (Urbanization) ไปยังพื้นที่ใหม่ๆ อีกด้วย