posttoday

'มัณฑะเลย์' เมืองดาวรุ่งแห่งเมียนมา

23 สิงหาคม 2560

"มัณฑะเลย์" อีกหนึ่งเมืองสำคัญของเมียนมาที่มีศักยภาพไม่แพ้ย่างกุ้ง ด้วยตำแหน่งเมืองยุทธศาสตร์ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา 20 ปี

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

"มัณฑะเลย์" อีกหนึ่งเมืองสำคัญของเมียนมาที่มีศักยภาพไม่แพ้ย่างกุ้ง ด้วยตำแหน่งเมืองยุทธศาสตร์ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา 20 ปี (2553-2573) ที่ยกให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า และการคมนาคมขนส่งทางตอนกลางและบนของ เมียนมา ในฐานะ "เมืองดาวรุ่ง" ที่มาแรงของเมียนมา

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ฉายภาพความน่าสนใจของ มัณฑะเลย์ในมุมกว้างว่า Business Monitor International (BMI) ได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจของเมียนมาจะขยายตัวอยู่ในระดับ 7.5% ส่วนภาคก่อสร้างจะขยายตัว 18.2% จึงทำให้เมียนมายังคงเนื้อหอมต่อไปอีกหลายปี

นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของเมียนมาก็ถือว่าอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ เพราะอยู่ระหว่างอินเดียและจีน ซึ่งเมียนมามีโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนได้จาก ทั้งสองประเทศ เพราะเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย ที่เมียนมาจะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียน โดยเชื่อมโยงจากเมืองมอเร่ห์ เมืองชายแดนในรัฐมณีปุระของอินเดีย เชื่อมไปยังเมืองทามู เมืองชายแดนในเขตมัณฑะเลย์ของเมียนมา ลงมาทางใต้ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ กรุงเนย์ปิดอว์ ย่างกุ้งและเมียวดี ก่อนเข้าสู่ไทยที่ จ.ตาก

ขณะเดียวกัน ยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางวันเบลต์วันโรด (One Belt One Road) ของจีนที่วางยุทธศาสตร์ให้เมียนมาเป็นประตูออกสู่มหาสมุทรอินเดียให้แก่มณฑลตอนในของจีน โดยเชื่อมโยงจากนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ไปยังเมืองมูเซ เมืองชายแดนในรัฐฉานของเมียนมา ก่อนเข้าสู่เมืองมัณฑะเลย์และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวในรัฐยะไข่เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

"เมื่อมองในแง่ของการเชื่อมโยงกับ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ มัณฑะเลย์เลยกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงไปโดยปริยาย เนื่องจากมัณฑะเลย์อยู่ตรงจุดตัดของสองเส้นทาง และเป็นสามแยก ที่เส้นทางเชื่อมโยงจากจีน อินเดีย และไทยมาพบกันพอดี เมืองมัณฑะเลย์จึงถูกจับตามองอย่างมากในฐานะศูนย์กลางการค้าการลงทุนสำคัญในการเชื่อมโยงกับจีนและอินเดีย โดยไทยก็จะได้อานิสงส์จากการเชื่อมโยงนี้ด้วย" อดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยหลายประการ ทั้งเส้นทางการค้าใหม่ (New Trade Route) เพื่อเจาะตลาดจีนและอินเดีย เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ (New Production Base) เพื่อ ป้อนสินค้าสู่ตลาดจีนและอินเดีย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ (New Tourist Destination) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

นอกจากนี้ มัณฑะเลย์ยังมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะการมีโครงข่ายคมนาคมทางบกและทางน้ำเชื่อมสู่เมืองย่างกุ้ง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สนามบินหลักของเมียนมา และภายใต้แผนพัฒนาเครือข่ายคมนาคมแห่งชาติของเมียนมา ยังมีโครงการยกระดับเส้นทางรถไฟสายมัณฑะเลย์-เนย์ปิดอว์-ย่างกุ้ง จะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และเมืองย่างกุ้งลดเวลาลงจาก 16 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือเพียง 8 ชั่วโมงเมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 รวมถึงยังมีอีกหลายโครงการที่เชื่อมเมืองมัณฑะเลย์สู่เมืองสาคัญอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองชายแดนที่เป็นประตูการค้าสาคัญ

อดุลย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทย เริ่มเข้าไปขยายการลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์แล้ว โด ยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ (Mandalay Industrial Zone) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมัณฑะเลย์ มีโครงการลงทุนมากกว่า 1,200 โครงการ เช่น ธุรกิจเกษตรแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้ ถลุงเหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม

ขณะที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร