posttoday

โอกาสการลงทุน 6 เมืองศักยภาพเวียดนาม

01 กรกฎาคม 2560

เวียดนาม ยังเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับการลงทุนจากทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจของเวียดนามก็ยังขยายตัว 6-7% อยู่

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

เวียดนาม ยังเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับการลงทุนจากทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจของเวียดนามก็ยังขยายตัว 6-7% อยู่

ขณะที่การลงทุนของไทยที่เข้าไปในเวียดนาม แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดการโจมตีของสื่อเวียดนามรุกคืบเข้าไปของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกบิ๊กเนมของไทยทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มทีซีซี แต่หลังจากเดินกลยุทธ์การค้า 2 ทาง (ทูเวย์ เทรด) ก็ทำให้กระแสต่อต้านลดน้อยลง
สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวถึงข้อมูลสถานการณ์การค้า การลงทุนไทยในเวียดนามว่า โอกาสในเวียดนามยังเปิดกว้างอยู่มาก และไม่เพียงอยู่แค่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น แต่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป และผลไม้อบแห้ง ก็ล้วนมีความน่าสนใจ เพราะปัจจุบันคนเวียดนามที่อยู่ในไทยมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการรับรู้และคุ้นเคยกับรสชาติอาหารไทย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเข้าไปตลาดเวียดนามได้ไม่ยาก

"เวียดนามมีหลายเมืองที่มีพลเมืองเกิน 1 ล้านคน แต่ละเมืองก็มีจุดเด่นที่ต่างกัน โดยมีเวียดนามใต้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เนื่องจากมีตลาดขนาดใหญ่ และมีฐานการผลิตที่ดี ส่วนเวียดนามเหนือนั้น มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หากผู้ประกอบการไทยศึกษาศักยภาพให้ดีก็จะสามารถมองเห็นถึงโอกาสและช่องทางธุรกิจที่จะเข้าไป"  สนั่น กล่าว

สำหรับ 6 เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพของเวียดนาม ได้แก่ โฮจิมินห์ เกิ่นเทอ เบียนหัว 3 เมืองทางใต้ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เหมือนกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล (สมุทรสาคร สมุทรปราการ) ของไทย ส่วนทางเวียดนามตอนเหนืออย่างเมือง ฮานอย และไฮฟอง ก็มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี และมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่ไฮฟอง ซึ่งเหมาะกับการ นำวัตถุดิบจากจีนเข้ามาผลิตและส่งออก ขณะที่ทางตอนกลางของเวียดนาม ก็มีเมือง ดานัง เป็นศูนย์กลาง ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีโอกาสโตสูง

จากการที่เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโต จึงมีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารจากประเทศไทยมีตลาดรองรับอยู่แล้วในเวียดนาม เพราะสินค้าไทยมีภาพลักษณ์คุณภาพที่ดี ราคาสมเหตุสมผลในสายตาชาวเวียดนาม

นอกจากนี้ เอฟดีไอในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนต่างต้องการแหล่งลงทุนทางเลือกอื่นนอกจากจีน ซึ่งเวียดนามก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะยังได้ทั้งสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) มีขนาดตลาดในประเทศใหญ่ และการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีธุรกิจจัดซื้อสินค้าจำนวนหนึ่งย้ายจากจีนเข้าสู่เวียดนามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยที่จะตั้งโรงงานในเวียดนาม

สำหรับอุปสรรคในการเข้าไปลงทุนในเวียดนามสำหรับนักลงทุนไทยก็ยังมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะต้องระวังเรื่องกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และเวียดนามกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการไทยจึงต้องคำนึงถึงโลจิสติกส์ในซัพพลายเชนให้ดี ดังนั้นการเจรจาต่อรองขอสิทธิประโยชน์การลงทุนกับรัฐบาลเวียดนามจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ ในอุปสรรคก็มีโอกาสแฝงอยู่เช่นกัน เช่น การที่สถาบันการเงินไทยสนใจอยากเข้าไปเปิดสาขาในเวียดนามก็ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเวียดนามยังไม่เปิดให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม (เอสโออี) ก็เปิดเชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อหารายได้เข้าไปประเทศ เช่น วีนามิลล์ และอาปิโก (รัฐวิสาหกิจด้านเครื่องดื่ม) ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปต่อยอด

"การลงทุนในเวียดนาม ต้องศึกษาความเป็นไปได้ในปัจจัยต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ ต้องมั่นใจว่าธุรกิจนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมายของเวียดนาม หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด" สนั่น แนะนำ