posttoday

เปิดประตูแม่สอด-เมียวดี บูมเส้นทาง‘การค้า-ท่องเที่ยว’

24 พฤษภาคม 2560

ปัจจุบัน อ.แม่สอด จ.ตาก มีความพร้อมรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดในทุกๆ ด้าน ทั้งสาธารณูปโภค ที่ดิน สิทธิประโยชน์และแรงงาน ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดได้รับความสนใจ

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

จากโครงการ CLMVT ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งอนาคต ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก-เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เมียนมา ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. จัดโดยบริษัท บางกอก โพสต์ และบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (เอพีเอ็ม) พร้อมนำคณะนักธุรกิจจากส่วนกลางและท้องถิ่น เข้าร่วมลงพื้นที่จริงในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองเมียวดี เมียนมา

ปัจจุบัน อ.แม่สอด จ.ตาก มีความพร้อมรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดในทุกๆ ด้าน ทั้งสาธารณูปโภค ที่ดิน สิทธิประโยชน์และแรงงาน ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งจากไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ติดต่อขอประมูลเช่าที่ดิน เพื่อย้ายฐานการผลิตโรงงานในจีนเข้ามายังแม่สอดแล้ว เพื่อรองรับเศรษฐกิจการข้ามแดน อ.แม่สอด โดยในปี 2560 คาดจะมีมูลค่าการค้าผ่านแดนขยายตัวถึงแสน ล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ สอดคล้องกับเมืองเมียวดี เมียนมา ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำคัญของเมียนมา ที่มีความพร้อมในเส้นทางการขนส่งและกระจายสินค้า หรือโลจิสติกส์ ซึ่งหากเริ่มจากหน้าด่านชายแดนเมืองเมียวดีมายังเขตการค้าเมียวดี (Myawaddy Trade Zone) จะมีระยะทางประมาณ 18 กม.เท่านั้น โดยแต่ละวันมีปริมาณรถขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยเข้ามาแวะพักเพื่อรอเปลี่ยนถ่ายสินค้าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 400-500 คัน/วันเลยทีเดียว

ด้วยเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเมืองเมียวดีนี้ นับว่าเป็นประตูสำคัญต่อการส่งออกสินค้าจากฝั่งไทยไปผ่านถนนจากเมืองพะอัน กอกาเร็ต ไปยังกรุงย่างกุ้ง ก่อนส่งออกไปยังตลาดจีนและอินเดีย ที่สามารถต่อไปยังตลาดตะวันตกในภูมิภาคยุโรปได้อีกด้วย 

เจ้าหน้าที่เทศบาลนครแม่สอด เสริมว่า จากเส้นทางเศรษฐกิจดังกล่าวที่เชื่อมต่อจาก จ.ตาก ไปยังเมืองเมียวดี ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก และเพื่อเป็นการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างสองประเทศในอนาคต นครแม่สอดยังได้ก่อสร้างสะพาน สะพานแห่งมิตรภาพ “ไทย-เมียนมา” หรือสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงินก่อสร้าง 3,900 ล้านบาท ประกอบด้วยตัวสะพานข้ามแม่น้ำเมย ถนนเชื่อมต่อสะพานทั้งสองฝั่ง รวมทั้งอาคารด่าน หรือ (บอร์เดอร์ คอนโทรล ฟาซิลิตี้) เพื่ออำนวยความสะดวกการใช้งานของหน่วยงาน เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ คาดว่าสะพานและอาคารศุลการกรรวมถึงด่านข้ามแดนจะแล้วเสร็จในปี 2562 แต่หากสะพานก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน จะเปิดให้ใช้เป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวได้ในช่วงปลายปี 2561 โดยสะพานแห่งนี้จะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักในอนาคตรองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  และรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ที่เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง

ขณะที่สะพานแห่งนี้ยังมีความพิเศษคือ บริเวณก่อนขึ้นสะพานจะทำทางสลับเลน ด้วยปัจจุบันถนนในเมียนมารถวิ่งเลนซ้าย ต่างกับประเทศไทยที่ใช้เลนขวา เพื่อไม่ต้องมีการเปลี่ยนเลนบนสะพานเหมือนกับสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งแรก ที่รองรับน้ำหนักรถบรรทุกจำนวนมากจนกระจุกตัวบนคอสะพานเพื่อรอสลับช่องทางจราจร ที่นอกจากจะทำให้สะพานชำรุดเสียหายมากแล้ว ยังสร้างปัญหาการจราจรที่คับคั่งบริเวณหน้าด่านทั้งสองประเทศด้วย 

ทั้งนี้ นครแม่สอดยังเตรียมปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 737 โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,500 ล้านบาท คาดใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี และเมื่อเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบจะส่งผลดีทั้งด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่และประเทศอย่างมาก สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 600 คน/ชั่วโมง หรือ 1.5 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับแค่เครื่องบินขนาดเล็ก 80 ที่นั่ง

นอกจากนี้ ภาคเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจ จ.ตาก ยังเรียกร้องเพื่อผลักดันให้ อ.แม่สอด เป็นเขตการค้าเสรี หรือฟรีเทรดโซนด้วย เพื่อดึงดูดและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจท้องถิ่น และการท่องเที่ยวที่จะโตขึ้นอีกในอนาคต