posttoday

รื้อเงินค้ำประกันทัวร์ ยกระดับเทียบชาติอาเซียน

21 เมษายน 2560

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ชะลอการนำเรื่องปรับขึ้นเงินค้ำประกันบริษัททัวร์ ซึ่งเตรียมนำเข้าครม.พิจารณาปลายเดือน เม.ย.นี้ หลังมีกระแสต่อต้าน

โดย...พีรดา ปราศรีวงค์

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ชะลอการนำเรื่องปรับขึ้นเงินค้ำประกันบริษัททัวร์ ซึ่งเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลายเดือน เม.ย.นี้ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงตามลำดับ หลังมีกระแสต่อต้านการปรับขึ้นเงินค้ำประกันของบริษัททัวร์ เส้นทางต่างประเทศ (เอาต์บาวด์) จาก 2 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท เพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวคนไทยไม่ให้ถูกหลอกลวง

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สั่งการให้กรมการท่องเที่ยว เร่งหารือร่วมกับเอกชนท่องเที่ยว เพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายพร้อมหาข้อสรุป ซึ่งย้ำว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่แนวทางการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ ต้องมีความสมเหตุสมผล ช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเท่าเทียมกับชาติสมาชิกอาเซียน

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เห็นใจรายเล็ก และกลุ่มคนท้องถิ่น แต่ต้องการมีการปรับขึ้น เพื่อยกระดับทีละขั้นตอน เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีความก้าวหน้า แต่ไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการปรับขึ้นเงินค้ำประกันครั้งนี้อาจไม่ถูกใจคนทั้งหมด แต่จะกระทบต่อส่วนรวมให้น้อยที่สุด” กอบกาญจน์ กล่าว

สุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (บอร์ดไกด์) ระบุแนวโน้มแพ็กเกจทัวร์จะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ นับจากนี้ เพราะตั๋วโดยสารเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของแพ็กเกจทัวร์ มีราคาถูกลงจากกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา ทั้งสายการบินปกติ และสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) รวมถึงกรรมวิธีการทำธุรกิจร่วมกับบริษัททัวร์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมใช้วิธีการวางมัดจำที่นั่งเครื่องบิน แต่ปัจจุบันให้บริษัททัวร์ที่ต้องการจองที่นั่งกับสายการบินจ่ายเงินทันที

ทั้งนี้ วิธีการทำธุรกิจร่วมกันในลักษณะดังกล่าว เป็นที่มาของโปรทัวร์ไฟไหม้ ซึ่งผู้ประกอบการบริษัททัวร์ที่จ่ายเงินค่าตั๋วโดยสารที่นั่งเครื่องบิน จำเป็นต้องตัดราคาตั๋ว เพื่อให้ได้เงินทุนหมุนเวียน บางรายยอมขาดทุนหรือได้กำไรเพียงเล็กน้อย ซึ่งกลยุทธ์การแข่งขันแพ็กเกจทัวร์ราคาถูก ได้สร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการทัวร์มีผลกำไรที่ลดลง จนกระทั่งขาดสภาพคล่องสร้างการโกงและปัญหาทัวร์ตามมา

การปรับราคาขึ้นของทัวร์เอาต์บาวด์จาก 2 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท มีความสมเหตุสมผลที่จะปรับขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวถูกหลอก สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ขณะที่ส่วนหนึ่งมีกระแสการต่อต้าน ในส่วนนี้กรมการท่องเที่ยวต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์

“การปรับขึ้นราคาเงินค้ำประกัน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัททัวร์ได้ เป็นการคัดกรองผู้ที่เหมาะสมในการทำทัวร์ โดยต้องยอมรับว่าประเทศไทยใช้เงินค้ำประกันการเปิดบริษัททัวร์น้อยที่สุดในอาเซียน เทียบกับไต้หวัน ใช้เงินค้ำประกัน 20 ล้านบาท สปป.ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา ใช้เงินค้ำประกันเฉลี่ย 5-20 ล้านบาท เมื่อเทียบกับประเทศไทยเพียง 2 แสนบาท ซึ่งเปิดช่องให้มิจฉาชีพเข้ามาฉกฉวยการทำทัวร์” สุรวัช กล่าว

นอกจากนี้ โมเดลการทำทัวร์เอาต์บาวด์ของต่างประเทศมีความเข้มข้น เช่น ไต้หวัน ต้องมีประสบการณ์การทำทัวร์อินบาวด์อย่างน้อย 2-3 ปี ก่อนที่เปิดเส้นทางเอาต์บาวด์ได้ ซึ่งช่วยลดปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวได้บางส่วน

ขณะที่แอตต้าเตรียมเสนอให้กรมการท่องเที่ยว พิจารณาการทำทัวร์เส้นทางกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) และมาเลเซีย เป็นการจดทะเบียนประกอบธุรกิจทัวร์เส้นทางในประเทศ เนื่องจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัททัวร์เอสเอ็มอี หากปรับราคาขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจ รวมถึงการทำทัวร์เส้นทางดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางบก มากกว่าการใช้เส้นทางอากาศ

“ทางกรมควรพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและสมเหตุสมผลที่สุด” สุรวัช กล่าวทิ้งท้าย