posttoday

เดอริส คอฟฟี่ กาแฟทุเรียนบุกจีน

28 มีนาคม 2560

จากพนักงานขายเครื่องชงกาแฟ ที่ผันตัวสู่ผู้ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์จำหน่ายสินค้าแบรนด์ ดิลิเชียส คอฟฟี่ พร้อมต่อยอดก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นสูตรกาแฟสำเร็จรูปเต็มตัว

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

จากพนักงานขายเครื่องชงกาแฟ ที่ผันตัวสู่ผู้ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์จำหน่ายสินค้าแบรนด์ ดิลิเชียส คอฟฟี่ พร้อมต่อยอดก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นสูตรกาแฟสำเร็จรูปเต็มตัว ภายใต้แบรนด์ เดอริส คอฟฟี่ ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยอัตราการเติบโตในปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 50%

สาวิตรี ซิ้มสมบูรณ์ กรรมการบริษัท เดอริส คอฟฟี่ อินดัสทรี กล่าวว่า เริ่มเปิดตัวและวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เดอริส คอฟฟี่ ตั้งแต่ปี 2558

ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ ดิลิเชียส คอฟฟี่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน โดยเหตุผลที่เลือกทำธุรกิจกาแฟ เห็นว่าธุรกิจกลุ่มนี้ยังเติบโต ประกอบกับจำนวนผู้บริโภคกาแฟเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อความต้องการในตลาดมีสูง ทำให้ผู้แข่งขันในธุรกิจกลุ่มเดียวกันมีจำนวนไม่น้อย

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้เดอริส มุ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเมล็ดกาแฟที่เลือกใช้ พร้อมดึงจุดเด่นของแบรนด์ และสร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคจดจำ ด้วยการเลือกใช้น้ำตาลโตนดแทนน้ำตาลทรายทั่วไป เหมาะกับกลุ่มผู้รักสุขภาพ ปัจจุบันได้พัฒนากาแฟสำเร็จรูป 4 สูตร ได้แก่ 1.สูตรออริจินัล 2.สูตรน้ำตาลโตนดกาแฟดำ 3.สูตรกาแฟน้ำตาลโตนด ถั่วเหลือง และ 4.สูตรกาแฟทุเรียน

สำหรับกาแฟทุเรียน พัฒนาสูตรเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคตลาดจีนโดยเฉพาะ ซึ่งวัตถุดิบที่เลือกใช้มีอยู่ในชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา ทั้งน้ำตาลโตนดจากชุมชนสทิงพระ ส่วนเมล็ดกาแฟเป็นวัตถุดิบหลักในภาคใต้

ขณะที่การทำตลาดในประเทศมีสัดส่วนหลักกว่า 90% และส่งออก 10% ด้วยสินค้ากาแฟทุเรียนชนิดเดียวไปยังประเทศจีน และฮ่องกงเนื่องจากตลาดจีนนิยมผลไม้ไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยังหลงใหลรสชาติทุเรียน ทำให้เดอริส คอฟฟี่ได้พัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยทำตลาดผ่านช่องทางร้านค้าในมณฑลคุนหมิง และกว่างโจวโดยตรง

สาวิตรี เล่าว่า การทำตลาดจีนระยะเริ่มต้น มีความท้าทายหลายด้าน จึงได้ศึกษาตลาดล่วงหน้าและพบว่า 2 มณฑลข้างต้น เหมาะแก่การเริ่มต้นบุกตลาด พร้อมออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศบ่อยครั้ง ที่ต้องเลือกสถานที่ให้เหมาะกับสินค้าชนิดนั้นๆ ด้วย ขณะที่ตลาดในประเทศ พบว่าผู้บริโภคนิยมรสชาติเข้มข้นกว่า โดยสินค้าวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ร้านค้าปลีกทั่วไป และร้านจำหน่ายของฝาก รวมถึงช่องทางออนไลน์ ที่ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเทียบเท่ากับช่องทางออฟไลน์

"จุดร่วมการทำตลาดในและต่างประเทศ คือ กระแสการรักสุขภาพ ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย หรือให้โทษน้อยกว่าแบรนด์สินค้าอื่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยเดอริสวางตำแหน่งเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มระดับบน"สาวิตรี กล่าว

ขณะที่ปี 2560 วางแผนขยายช่องทางจัดจำหน่ายในกว่างโจว และคุนหมิงมากขึ้น โดยจะวางจำหน่ายสินค้าในโมเดิร์นเทรด ส่งผลให้สัดส่วนการค้าในต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% และในประเทศเป็น 80% ส่วนแผนระยะยาวจะขยายตลาดใหม่ในกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) และตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ เดอริส คอฟฟี่ ยังได้เข้าร่วมโครงการ จีเนียส อะคาเดมี ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับตนเอง ซึ่งหลายโครงการของภาครัฐสนับสนุนการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยสิ่งที่อยากให้เพิ่มคือ ช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ และเพิ่มความมั่นคงในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ

สาวิตรี เสริมว่าสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเองนั้น ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเจอได้ จึงอยากให้มองว่าเป็นประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ตัวเอง

ขณะที่บริษัทมีอัตราเติบโตรายได้ในปี 2559 เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2558 ด้วยเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจและได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากตลาดในและต่างประเทศ โดยในปี 2560 วางเป้าหมายการเติบโตเพิ่มขึ้น  30%

จากฐานรายได้ขยายขึ้น และประเมินจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ