posttoday

ปั้นไมซ์ไทยส่งออก

24 กุมภาพันธ์ 2560

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ หัวเรือใหญ่

โดย...พีรดา ปราศรีวงค์

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ หัวเรือใหญ่ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนาและนิทรรศการ (ไมซ์) เอง ก็เตรียมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การศึกษาไมซ์และเดสทิเนชั่นของการสร้างมาตรฐานไมซ์แห่งภูมิภาคอาเซียน

นิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ เล่าว่า แผนยุทธศาสตร์ไมซ์ในปี 2560 จะเน้น 2 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การสร้างคน พัฒนาแรงงานไมซ์ และยกระดับมาตรฐานไมซ์ให้ครบวงจรเพื่อ ผลักดันให้มาตรฐานไมซ์ของประเทศไทยเป็นต้นแบบและเป็นที่ยอมรับในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นฐานการผลิตแรงงานออกสู่ตลาดอาเซียน เพราะไทยมีพื้นฐานด้านการบริการที่ดี เป็นที่ยอมรับในตลาด โดยคาดปีนี้ไมซ์ไทยจะโต 5-7% มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณ 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ 1.01 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ได้จัดวางกลยุทธ์ไว้ 4 แนวทางหลัก คือ 1.การจัดทำหลักสูตรการศึกษาภาคธุรกิจไมซ์ เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานแสดงสินค้า และหลักสูตรด้านบริหารจัดการประชุมระดับนานาชาติ โดยเน้นผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับใหญ่ เพื่อให้ผู้ประกอบการและบุคลากรได้มีประสบการณ์และเรียนรู้จริงในภาคสนาม โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรไมซ์ นำร่อง 2 สาขา ได้แก่ สาขาอาชีพภาคบริการครบวงจร และสาขาช่างไฟฟ้าไมซ์ เป็นแห่งแรกของโลก

"ธุรกิจไมซ์มีความละเอียดอ่อน ของสาขาแรงงานที่แตกต่างจากแรงงานทั่วไป การเลือกแรงงานช่างไฟฟ้าขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพราะผู้ประกอบการเอกชนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การเร่งพัฒนาช่างไฟไมซ์ที่มี ความรู้เฉพาะการจัดไฟด้านการประชุมไมซ์อย่างแท้จริง จะสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศไทย เพราะกลุ่มนี้ยังเป็นแรงงานที่ขาดแคลนและต้องมีทักษะเฉพาะด้าน" นิชาภา กล่าว

กลยุทธ์ที่ 2 การศึกษาสำหรับสถาบันศึกษาและเยาวชน โดยเตรียมพัฒนาหลักสูตรการจัดงานกิจกรรม (อีเวนต์) เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา ซึ่งหลักสูตรนี้เตรียมบรรจุการเรียน การสอนในมหาวิทยาลัยกว่า 60 แห่ง และการศึกษาอาชีวะ 47 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าผลิตบุคลากรไมซ์รุ่นไมซ์ที่มีความเป็นมืออาชีพจากอุดมศึกษา 4,000 คน/ปี และอาชีวศึกษา 1,000/ปี เพื่อป้อนตลาดทั้งในและอาเซียน

ด้านกลยุทธ์ที่ 3 คือ สร้าง มาตรฐานไมซ์ในประเทศภายใต้โครงการไทยแลนด์ ไมซ์ เวนู สแตนดาร์ด ประเภทต่างๆ เช่น มาตรฐานไอเอสโอ 22301 ห้องประชุม โดยดึงสถานที่ จัดงานในไมซ์ซิตี้ เช่น ภูเก็ตและเชียงใหม่ เข้าร่วมการสร้างมาตรฐาน ใช้เป็นจุดขายและความเชื่อมั่นให้กับผู้จัดงานต่างชาติเลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงาน และ 4. การพัฒนาหลักสูตร อบรมให้ความรู้ ความเข้าใจผู้ประกอบการถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายชาติในแถบยุโรปต่างให้ความสำคัญในส่วนนี้มาก

ยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องการรวบรวมข้อมูลบุคลากรไมซ์ในภาคแรงงานไมซ์ในแต่ละกลุ่มให้มีความชัดเจน รวมถึงตัวเลขในแต่ละกลุ่มที่ขาดแคลนมาก ปานกลาง และ เพียงพอต่อความต้องการซึ่งทีเส็บจะเร่งดำเนินการจัดเก็บตัวเลขเพื่อนำมา วางแผนพัฒนาบุคลากรได้อย่าง ถูกต้อง เพื่อหนุน การเป็นฮับส่งออก บุคลากรไมซ์ในอาเซียนอย่างแท้จริง