posttoday

อัตราภาษีใหม่ หนุนกิจการขนาดย่อม

23 กุมภาพันธ์ 2560

นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายภาษีบุคคลธรรมดาครั้งใหญ่

โดย...เบญจมาศ กุลกัตติมาส กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายภาษีบุคคลธรรมดาครั้งใหญ่ ซึ่งกฎหมายใหม่มีผลเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป ถ้าดูในภาพรวมก็เป็นข่าวดีเพราะการแก้ไขรวมถึงการเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆ ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดีกฎหมายใหม่ก็มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาอยู่บ้าง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นที่ถูกใจของพนักงานเงินเดือนเพราะมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายเหมาให้แก่พนักงานเงินเดือน จากเดิมหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ไม่เกิน 60,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งอาจจะมองว่ายังไม่มากนักเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในรอบเกือบ 30 ปี แต่ก็ถือว่าดีขึ้นสำหรับบุคคลที่มีรายได้หลักจากการเป็นพนักงานประจำที่มีรายได้ในรูปเงินเดือน

ในทางกลับกันกฎหมายใหม่ไม่ได้ส่งผลที่ดีขึ้นในเรื่องการหักค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการค้าที่ดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา เนื่องจากการแก้ไขครั้งนี้ได้มีการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (7) (รายได้จากการรับเหมา) และ (8) (รายได้จากการค้า) แห่งประมวลรัษฎากรให้ลดลงเหลือร้อยละ 60 จากเดิม
ผู้ประกอบการค้าที่มีรายได้จากการค้าสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตราร้อยละ 75-80 ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ เช่นการขายสินค้าเดิมที่หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 80 แต่ตามกฎหมายใหม่นับจาก 1 ม.ค. 2560 จะหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ไม่เกินร้อยละ 60

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่พนักงานเงินเดือนสามารถเลือกใช้การหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนอัตราเหมาร้อยละ 60 ได้ หากเดิมผู้ประกอบการค้าใช้อัตราเหมาส่วนที่หายไปร้อยละ 20 ของรายได้ ถือว่ามีสาระสำคัญทีเดียว นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการค้าคงต้องหันไปเลือกใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บเอกสารที่ดีเพราะต้องมีเอกสารเพื่อพิสูจน์รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงพร้อมให้กรมสรรพากรตรวจสอบ  นอกจากนี้การหักค่าใช้จ่ายจริงในปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคลมาบังคับใช้ ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และกำหนดรายจ่ายต้องห้ามหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีไว้ในมาตรา 65 ตรี

นั่นหมายความว่าถ้าผู้ประกอบการค้าจะเลือกใช้การหักค่าใช้จ่ายจริงผู้ประกอบการค้าจะต้องพิจารณาว่าการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตนเป็นไปตามเงื่อนไขและไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามหลักเดียวกับการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากต้องมีการจัดระบบเอกสารที่ดีแล้วจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาว่ารายจ่ายใดจึงจะนำมาหักได้หรือไม่ได้ด้วย เพราะหากได้เลือกใช้หักค่าใช้จ่ายตามจริงแล้ว ต่อมากรมสรรพากรตรวจพบว่าค่าใช้จ่ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มีผลให้ผู้ประกอบการค้าสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้แล้วผู้ประกอบการค้าไม่สามารถจะขอเปลี่ยนมาเลือกใช้อัตราเหมาที่มากกว่าได้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเอกสารให้แน่ใจว่าสามารถนำมาหักได้จริง 

เมื่อต้องมีการจัดเก็บเอกสารและจัดการเรื่องการหักค่าใช้จ่ายแบบนิติบุคคลแล้วอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการค้าเปลี่ยนมาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมากขึ้นซึ่งก็จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการการขยายฐานภาษีอย่างยั่งยืนในระยะยาว และปิดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี

ดังนั้น ถ้ากิจการเป็นขนาดย่อมที่เข้าเงือนไขการใช้สิทธิอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงการประกอบการค้าในรูปนิติบุคคลน่าจะดีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อดีในการดำเนินกิจการค้าในรูปนิติบุคคลก็คือ หากในระยะเริ่มแรกกิจการมีค่าใช้จ่ายจริงที่มากกว่ารายได้ หรือบางปีการประกอบกิจการไม่เป็นไปตามเป้ามีผลขาดทุน นิติบุคคลสามารถนำขาดทุนที่เกิดขึ้นไปหักออกจากกำไรในปีถัดมาได้ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี  ซึ่งกรณีบุคคลธรรมดาจะไม่สามารถนำขาดทุนไปใช้ในปีถัดไปได้ นอกจากนี้หากกิจการจะขยายธุรกิจโดยการขายสินค้าหรือให้บริการข้ามประเทศ การเป็นนิติบุคคลอาจจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเพราะลูกค้าสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลของนิติบุคคลได้