posttoday

เจาะโอกาส 5 มณฑลจีน เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทย

19 สิงหาคม 2559

จีนเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีตลาดขนาดใหญ่มาก ในแง่ของการเป็นผู้ผลิตนั้นต้องยอมรับว่า คงยากที่ไทยจะเข้าสู่สนามแข่งขัน

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล 

จีนเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีตลาดขนาดใหญ่มาก ในแง่ของการเป็นผู้ผลิตนั้นต้องยอมรับว่า คงยากที่ไทยจะเข้าสู่สนามแข่งขัน ด้วยเพราะต้นทุนการผลิตของจีนที่ต่ำกว่า ทางเดียวที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดจีนได้ คือ การจับศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละมณฑลของจีน แล้วเข้าไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ได้

จากการวิเคราะห์ศักยภาพของจีนที่สามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เบื้องต้นได้ยกขึ้นมา 5 มณฑล ประกอบด้วย ซานตง เจียงซู เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และกวางตุ้ง จากทั้งหมด 31 เมือง

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2558 มีขนาดจีดีพีอยู่ที่ 1.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ในปี 2557 สูงถึง 1.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.9% แม้คาดว่าจะมีการปรับตัวชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 6.5% ในปี 2559 แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็ยังถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศ

ทั้งนี้ ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 14 ของจีน โดยจีนมีส่วนแบ่งตลาดในไทย 2% ของสินค้าส่งออก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่จีนส่งออก คือ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรและเฟอร์นิเจอร์ ขณะเดียวกันไทยก็เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 10 ของจีน ในอนาคตจีนมีแนวโน้มที่จะส่งออกสินค้าเข้ามายังไทยมากขึ้น เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้สดและแปรรูป

“จากการศึกษาศักยภาพ พบว่า ทั้ง 5 มณฑลนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม เพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ โดยทั้ง 5 มณฑลนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับ 40.6% ของจีดีพีประเทศจีน ดังนั้นไม่ว่าผู้ประกอบการไทยจะออกไปลงทุนทำตลาดที่ไหนก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะจับตลาดจีนและอินเดียไว้ด้วย เพราะมีโอกาสสำหรับสินค้าไทยมากมาย โดยเฉพาะจีนที่อุตสาหกรรมไทยสามารถเข้าไปเชื่อมโยงได้” อัทธ์ กล่าว

หากเจาะลึกลงรายมณฑลแล้ว เริ่มจากมณฑลกวางตุ้งจะพบว่าขนาดเศรษฐกิจของมณฑลนี้มีสัดส่วน 10.6% ของมูลค่าจีดีพีประเทศจีน มีระบบคมนาคมที่มีศักยภาพในการรองรับการค้าและการขนส่งที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นชุมทางรถไฟที่สำคัญทางตอนใต้ของจีน จึงทำให้สามารถคมนาคมขนส่งเชื่อมไปยังมณฑลใกล้เคียงได้สะดวก

มณฑลฝูเจี้ยนมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.8% ของจีดีพีประเทศจีน มีท่าเรือเซี่ยเหมินซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด มีสนามบินนานาชาติและมีรถไฟเชื่อมโยงไปมณฑลอื่นๆ เชื่อมโยงระหว่างมณฑลทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศจีน อีกทั้งยังมีเขตเศรษฐกิจอีกหลายแห่ง

ขณะที่มณฑลเจ้อเจียงมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ 6.3% ของจีดีพี มีนครหางโจวเป็นเมืองเอก ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีความโดดเด่นทางอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น การสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และพลังงานใหม่ ส่งผลให้มณฑลนี้มีการพัฒนาทั้งท่าเรือ สนามบิน รถไฟ และระบบการคมนาคมขนส่งพร้อมรองรับการลงทุนอยู่แล้ว

เจียงซูเป็นอีกมณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มีสัดส่วน 10.9% เมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพีของประเทศจีน มีท่าเรือน้ำลึกเหลียนหยุนกั่ง ซึ่งเป็นท่าเรือที่เพิ่มศักยภาพเส้นทางสายไหมทางเรือให้กับจีน เชื่อมต่อ 47 เมือง ใน 17 ประเทศ มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจกระจายในเมืองต่างๆ เช่นเดียวกับมณฑลซานตงที่มีขนาดเศรษฐกิจถึง 10.2% เมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศ เมื่องนี้มีท่าเรือทั้งหมด 29 แห่ง กระจายตามเมืองต่างๆ และมีเส้นทางเดินเรือมากกว่า 130 เส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า ทั้ง 5 มณฑลนี้มีทั้งการพัฒนาทางถนนรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือและสนามบิน และยังเป็นเขตที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาเมืองใหม่ นั่นหมายถึงกำลังซื้อทั้งจากตลาดภายในมณฑลและนอกมณฑลของจีน

รวมถึงกำลังซื้อจากต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาจากการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในอนาคต