posttoday

มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-หลวงพระบาง เส้นทางสายไหมแห่งลุ่มน้ำโขง

10 กุมภาพันธ์ 2559

แผนยุทธศาสตร์ “ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” GMS Economic Corridors เชื่อมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

แผนยุทธศาสตร์ “ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” GMS Economic Corridors เชื่อมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ จีนตอนใต้ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นความหวังของกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ล้านนาตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้เตรียมโครงการคมนาคมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศไว้แล้ว รอเพียงการผลักดันเพื่อเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรม

หัสนัย แก้วกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา มองว่า โครงการมอเตอร์เวย์ เชียงใหม่-หลวงพระบาง ซึ่งเริ่มต้นจาก จ.เชียงใหม่ ผ่าน จ.ลำปาง พะเยา และเชียงราย ถือเป็นอนาคตของการพัฒนาเป็นเส้นทางสายไหมของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

โครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์ “เชียงใหม่-หลวงพระบาง” สามารถเชื่อมโยงทะลุออกไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่าน “ด่านบ้านฮวก” อ.ภูซาง จ.พะเยา ไปได้ถึงหลวงพระบาง ลาว เดียนเบียนฟู เวียดนาม ซึ่งการไปถึงของเส้นทางหมายถึงการเดินทางของวงจรเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้มีการขยายตัวมากขึ้นด้วย

จากการสำรวจความพร้อมฝั่งประเทศลาว เพื่อเตรียมพัฒนาด่านบ้านฮวกในฝั่งไทย หัสนัยบอกว่า เมืองคอบ ประเทศลาว น่าจะสามารถดำเนินการเปิดด่านปางมอนเป็นด่านสากลได้ก่อนด่านบ้านฮวกของ จ.พะเยา เนื่องจากทางประเทศลาวมองเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศและประชาชนภายในประเทศจะได้รับ

“ภาพของถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นที่เราเห็นในเมืองคอบครั้งนี้ อาจจะเป็นการมาย้อนอดีตเพื่อเก็บเป็นภาพประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะไม่ได้เห็นร่องรอยของฝุ่นตลบเช่นนี้อีกต่อไป เพราะการทำงานของประเทศเพื่อนบ้านเรารวดเร็วมาก มีการทำงานเป็นขั้นตอนอย่างมีระบบ เพราะเขาตระหนักดีว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนของเขาได้จริง” หัสนัยฉายภาพการเร่งพัฒนาเส้นทางเชื่อมในฝั่งประเทศลาว

ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการค้า การลงทุน ในภูมิภาคนี้และยังสามารถเชื่อมเข้ากับเส้น R3A จากประเทศจีน ผ่านเข้าประเทศลาว และเชื่อมโยงกับเส้นทางในประเทศไทยด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งกำลังเร่งผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ระบบโครงข่ายเส้นทางเหล่านี้กำลังเป็นความหวัง ไม่เพียงแต่ประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมด เพราะอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนเข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคกว่า 200 ล้านคน