posttoday

เจาะอุตฯเหล็กเวียดนาม

07 มกราคม 2559

สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น นอกจากได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนแล้ว

สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น นอกจากได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนแล้ว ยังต้องเผชิญกับการทะลักเข้าของผลิตภัณฑ์เหล็กจากเวียดนามด้วย ซึ่งไทยนำเข้าเหล็กจากเวียดนามมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2015 ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากเวียดนามขยายตัว 17% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า

สินค้าเหล็กที่เวียดนามส่งออกมากที่สุดคือเหล็กแผ่นเคลือบ รองลงมาคือเหล็กแผ่นรีดเย็น ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2015 ไทยขาดดุลการค้ากับเวียดนามในส่วนของสินค้าเหล็กราว 323 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ Anti-Dumping บนผลิตภัณฑ์เหล็กจากเวียดนามมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน รวมทั้งมีสินค้าเหล็กหลายรายการที่กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวน อาทิ สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่ม ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นแนวโน้มที่มาตรการ AD จะมุ่งเน้นไปที่สินค้าเหล็กจากเวียดนามยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ไทยที่ถูกเวียดนามทุ่มตลาด แต่ยังรวมถึงอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามมีตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งมีทั้งรัฐบาล เอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของ รวมถึงการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เช่น เหมืองแร่เหล็ก Quy Xa และ Thach Khe โดยผู้ผลิตท้องถิ่นส่วนใหญ่ล้วนมีโรงงานการผลิตขนาดเล็กและขาดแคลนเทคโนโลยีขั้นสูง

ในปี 2014 เวียดนามมีปริมาณการผลิตเหล็กดิบ 5.8 ล้านตัน และเหล็กสำเร็จรูป 5 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคอยู่ที่ราว 14.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 24% ปริมาณการส่งออกเท่ากับ 2.4 ล้านตัน และมีการนำเข้าเหล็กถึง 11 ล้านตัน ซึ่งทั้งหมดล้วนขยายตัวจากปีก่อนหน้า รัฐบาลจึงมีทิศทางดำเนินนโยบายสนับสนุนการลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า เพิ่มปริมาณการส่งออก สนับสนุนการลงทุนในการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูง รวมถึงการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปี 2015 อุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวอย่างมากในเวียดนาม ซึ่งกำลังการผลิตโดยประมาณการสูงถึง 18.7 ล้านตัน ขยายตัวเฉลี่ย 34% ต่อปีตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนที่ไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิตมากนัก โดยมีสาเหตุจากการเร่งออกใบอนุญาตการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กโดยไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ

ทั้งนี้ ในปี 2013-2025 มีการลงทุนโรงงานเหล็กในเวียดนามถึง 42 โครงการและหากแล้วเสร็จจะส่งผลให้กำลังการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้านตัน/ปี ซึ่งต้องจับตามองภาครัฐว่าจะมีคำสั่งยกเลิกใบอนุญาตโครงการหรือไม่ เนื่องจากพบว่าบางโรงงานใช้เทคโนโลยีล้าสมัย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามมีแนวโน้มได้รับผลดีจากการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมูลค่ากว่า 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ และการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่ถูกและศักยภาพของประเทศในด้านการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยดึงดูดสำคัญเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน

หากเปรียบเทียบกับไทยแล้วเวียดนามยังอาจจะได้เปรียบกว่าจากการมีอุตสาหกรรมต้นน้ำและการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีีพี) ที่คาดว่าจะสามารถดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นอีก และเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดของประเทศในกลุ่มทีพีพีในอัตราภาษีที่ลดลง

ส่วนความท้าทายของอุตสาห กรรมเหล็กเวียดนามยังคงเป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเมื่อมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ความตกลงการค้าเสรีกับรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตเหล็กคุณภาพดีติดอันดับโลก รวมไปถึงเรื่องการจัดการให้อุปสงค์กับอุปทานเข้าสู่สมดุล เนื่องจากขณะนี้เวียดนามประสบปัญหาอุปทานล้นในบางผลิตภัณฑ์ เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแท่งยาว เหล็กเส้น ฯลฯ ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มสูงเกิน 2 ล้านตัน/ปี ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา นำไปสู่การออกมาตรการ AD บนสินค้าเหล็กของเวียดนามจากหลายๆ ประเทศ

สุดท้าย คือ การปกป้องอุตสาหกรรมจากสินค้านำเข้าราคาถูก เนื่องจากขณะนี้เวียดนามได้รับผลกระทบจากเหล็กจีนนำเข้าเช่นเดียวกับประเทศอื่น ซึ่งเหล็กจีนนำเข้าส่วนใหญ่ของทั้งไทยและเวียดนามเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น ฯลฯ แต่หากเทียบกับไทยแล้วเวียดนามพึ่งพาเหล็กจากจีนมากกว่า โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2015 เวียดนามและไทยนำเข้าเหล็กจีนในสัดส่วนราว 60% และ 37% ของปริมาณเหล็กนำเข้าทั้งหมดตามลำดับ

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ตั้งใจจะลดอุปสรรคเรื่องกำแพงภาษี โดยลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนด้วยกันเหลือ 0% และถือเป็นโอกาสให้เวียดนามส่งออกสินค้าเหล็ก
มาไทย รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น และมีแนวโน้มทำให้อุตสาหกรรมเหล็กมีการแข่งขันสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางในปัจจุบันเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะแต่ละประเทศมีแนวโน้มใช้มาตรการ AD บนสินค้าเหล็กมากขึ้น และอาจจะเพิ่มมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษีอื่นๆ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน จึงอาจส่งผลให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันขยายตัวได้ไม่มากนัก

ผู้ประกอบการไทยไม่ควรชะล่าใจและต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันอยู่เสมอ โดยผู้ผลิตกลางน้ำต้องพยายามลดต้นทุนการผลิตและสร้างมาตรฐานคุณภาพสินค้า รวมถึงร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศจัดหาวัตถุดิบราคาถูกและถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน ส่วนผู้ผลิตปลายน้ำควรผลิตสินค้าที่ตอบสนองลูกค้าได้หลากหลาย พัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มโดยอาศัยนวัตกรรมการผลิต ยกระดับการให้บริการโดยใช้นวัตกรรมการบริการ สร้างช่องทางการจัดจำหน่าย และสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพราะถึงอย่างไรก็ตามปริมาณการบริโภคเหล็กของประเทศในอาเซียนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและยังมีหลายตลาดที่น่าสนใจ เช่น เมียนมามีปริมาณการใช้เหล็กต่อประชากรเพียงแค่ 40.8 กิโลกรัมเท่านั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนซึ่งอยู่ที่ราว 255 กิโลกรัม อีกทั้งขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ เมียนมายังไม่มีการผลิตเหล็ก และยังไม่ได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้าในสินค้าเหล็ก