posttoday

จับโอกาสยักษ์ประชากร บุกฮาลาล-โครงสร้างพื้นฐาน

29 ธันวาคม 2558

หากกล่าวถึงอินโดนีเซีย ความโดดเด่นอันดับแรกที่หลายคนนึกถึงย่อมเป็นเรื่องจำนวนประชากร

โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์

หากกล่าวถึงอินโดนีเซีย ความโดดเด่นอันดับแรกที่หลายคนนึกถึงย่อมเป็นเรื่องจำนวนประชากร เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน มากที่สุดในบรรดา 10 ประเทศอาเซียน

จำนวนประชากรที่มากกว่าใครเพื่อน ยังหมายถึง อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ใหญ่ระดับที่เข้าไปทำการค้าเพื่อเจาะตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องเข้าไปลงทุนเพื่อเป็นฐานการส่งออก ก็ยังน่าสนใจ

วิลาสินี โนนศรีชัย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ถึงกับเคยระบุว่า การเจาะตลาดกลางบนในอินโดนีเซียเพียงกลุ่มเดียวก็ถือว่าน่าสนใจแล้ว แม้ประชากรกลุ่ม
ดังกล่าวจะมีเพียงราว 10% แต่พอคิดเป็นจำนวนออกมาก็ยังมากถึง 25 ล้านคน อีกทั้งกลุ่มดังกล่าวยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงด้วย โดยสินค้าที่ควรส่งเข้าไปเจาะตลาดคือสินค้าฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอาหารหรือสินค้าแฟชั่น

โดยเฉพาะสินค้าอาหารนั้น ยังมีแนวโน้มและโอกาสใหม่ๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อาลี โพเทีย รองผู้อำนวยการ แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี สิงคโปร์ กล่าวในงานสัมมนา ASEAN Business Forum 2015 ว่า ในปี 2562 การค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดของอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีมูลค่าการค้าคิดเป็น 21% ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกอินโดนีเซีย สะท้อนว่าหากผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงช่องทางโมเดิร์นเทรดในอินโดนีเซียได้ ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตได้ดีในอนาคต

ขณะที่โอกาสการลงทุนนั้น ด้วยศักยภาพพื้นฐานที่โดดเด่น ทำให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของไทย จัดให้อินโดนีเซียเป็น 1 ใน 5 ประเทศกลุ่มแรก ที่บีโอไอส่งเสริมการลงทุนด้วย ผู้ประกอบการไทยจึงจะได้รับการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสาร กฎหมาย สภาพตลาด ประสบการณ์ธุรกิจ มีโอกาสมากขึ้นในอินโดนีเซีย

สำหรับ 5 เมืองหลักที่น่าเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ได้แก่ จาการ์ตา บาหลี เมดาน สุราบายา และมากัสซาร์ เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเมืองขนาดใหญ่ บางเมืองยังเป็นเมืองท่องเที่ยวอีกด้วย

ข้อมูลจาก ASEAN Investment Report 2015 จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ระบุว่า แนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่น่าจับตาเรื่องหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive Industries) หันมาขยายฐานการผลิตสู่ประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำอย่างประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย

เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่า อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในไทยเอง ก็มีโอกาสย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาต้นทุนค่าแรงที่ต่ำลงในอินโดนีเซียได้เช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีศักยภาพการเติบโต ข้อมูลของสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 อินโดนีเซียมียอดการผลิตรถยนต์ 9.4 แสนคัน เทียบกับอาเซียนแล้วเป็นรองประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในช่วงดังกล่าวสูงถึง 8.53 แสนคัน สูงที่สุดในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย จำเป็นต้องมีเครือข่ายหรือเป็นผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย หากไม่ได้เป็นห่วงโซ่อุปทานกันดั้งเดิมจะลดโอกาสในการเข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของอินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะนับพันเกาะ ต้นทุนโลจิสติกส์มีสัดส่วนสูงถึง 30% การคมนาคมขนส่งในประเทศทั้งทางบกและทางน้ำยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม ASEAN Investment Report 2015 จึงประเมินว่า อินโดนีเซียยังต้องการเร่งพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อให้จีดีพีของตัวเองเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นจากปีละประมาณ 6% ในปัจจุบัน กลายเป็น 7-9% ในอนาคต

นี่จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคม โทรคมนาคม พลังงาน ระบบไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในอินโดนีเซีย

ด้านพลังงานยังถือเป็นด้านที่มีโอกาสมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากอินโดนีเซียจะเป็นแหล่งปลูกพืชพลังงานแล้ว อินโดนีเซียยังต้องการการพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มเติมด้วย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐบาลอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ นักธุรกิจหลายรายให้ความเห็นตรงกันว่า การจะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียนั้น ควรจะมีพันธมิตรท้องถิ่น เนื่องจากพันธมิตรท้องถิ่นจะช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องกฎหมาย การขอใบอนุญาตต่างๆ การสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์

ปัจจุบันอินโดนีเซียยังไม่ได้เป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) แต่ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนออกมาแล้วว่าต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพี หากอินโดนีเซียได้ร่วมเป็นสมาชิกจริง อาจทำให้ผู้ที่เข้าไปลงทุนได้รับประโยชน์เพิ่มเติมในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มทีพีพีด้วย