posttoday

ดันซูเปอร์คลัสเตอร์เต็มสูบ ระยองเปิดเวทีชี้แจง

25 ธันวาคม 2558

แม้จะมิใช่เมืองชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของ จ.ระยอง

โดย...จุมพล นิคมรักษ์

แม้จะมิใช่เมืองชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของ จ.ระยอง โดยเฉพาะการเชื่อมการขนส่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและแหล่งขุดเจาะในประเทศเพื่้อนบ้าน ทำให้ จ.ระยอง เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ “ซูเปอร์คลัสเตอร์” ด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด จ.ระยอง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเสวนาเรื่อง “Super Cluster คนระยองได้อะไร” โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ระยอง จำนวน 100 คน เข้าร่วมรับฟัง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นกับโครงการใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ภัคพงศ์ พจนารถ รองคณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวว่า อุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีกว่าอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของ จ.ระยอง เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน คนระยองทุกภาคส่วนจะต้องรู้ มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะได้รับทราบว่าการกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับ จ.ระยอง อย่างไร รวมทั้งคนระยองจะได้อะไร ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในการรองรับนโยบายดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชน โดยเห็นว่าปัจจุบันการลงทุนปิโตรเคมีในไทยมีมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านบาท และในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าจะขยายการลงทุนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นนโยบายรัฐบาลล่าสุดที่ประกาศสนับสนุนการลงทุนซูเปอร์คลัสเตอร์ 6 กลุ่ม และความชัดเจนของการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายดังกล่าวกังวล คือ การจัดทำร่างผังเมืองใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง มีการจำกัดพื้นที่อุตสาหกรรมจาก 4 หมื่นไร่ เหลือ 2.6 หมื่นไร่ ในนิคมฯ มาบตาพุด ส่งผลทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพิ่ม แต่นโยบายของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ผลักดันแนวทางซูเปอร์คลัสเตอร์ดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคเอกชนคาดว่ารัฐบาลจะสร้างความชัดเจน ซึ่งต้องรอข้อสรุปการจัดทำร่างผังเมืองใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้เร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านจากข้อห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีการพูดถึง แต่เชื่อว่าคงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน