posttoday

กางภาษีควรรู้ ก่อนทำงานต่างประเทศ

26 พฤศจิกายน 2558

ยิ่งใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี อย่างเต็มรูปแบบ ประเด็นที่กล่าวถึงกันมากในการเตรียมความพร้อมคือ เรื่องแรงงาน

โดย...เบญจมาศ กุลกัตติมาส

ยิ่งใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี อย่างเต็มรูปแบบ ประเด็นที่กล่าวถึงกันมากในการเตรียมความพร้อมคือ เรื่องแรงงาน เนื่องจากเออีซีเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกลุ่ม 8 อาชีพ ได้แก่ 1.วิศวกร 2.ช่างสำรวจ 3.สถาปนิก 4.แพทย์ 5.ทันตแพทย์ 6.พยาบาล 7.บัญชี 8.ผู้ให้การบริการ/การท่องเที่ยว ในการเตรียมความพร้อม เน้นไปถึงคุณภาพของบุคลากร ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยมีศักยภาพผลิตบุคลากรในสายวิชาชีพทั้ง 8 กลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นการเปิดเสรีจะทำให้ผู้จบการศึกษาในสายวิชาชีพทั้ง 8 มีตลาดงาน
ที่เปิดกว้างมากขึ้น การเตรียมความพร้อมจึงมุ่งไปที่การพัฒนาระดับการศึกษา รวมถึงเน้นเรื่องความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษที่ไทยอาจจะยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

ในด้านวิชาชีพที่เปิดเสรี โดยข้อเท็จจริงอาจไม่ง่ายที่จะเคลื่อนย้ายอย่างเสรีเสียทีเดียว เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีองค์กรกำกับดูแล บุคคลที่จะทำอาชีพเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่แต่ละวิชาชีพกำหนด แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีมาตรฐานและองค์กรกำกับดูแลของตนเอง หากแต่ละประเทศมีข้อกำหนดที่เข้มงวดและแตกต่างกันมากก็จะไม่ส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีตามวัตถุประสงค์ของการเป็นเออีซี 

ด้วยเหตุนี้ จากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซีย จึงได้มีการกำหนดให้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพหรือแรงงานเชี่ยวชาญของอาเซียนได้อย่างเสรี ดังนั้น หากท่านเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพใน 8 วิชาชีพ และต้องการจะประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกอื่น จึงต้องศึกษากฎเกณฑ์ในสาขาวิชาชีพดังกล่าวว่าท่านมีคุณสมบัติตามนั้นหรือไม่ รวมถึงข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศนั้นๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปทำงานได้อย่างสะดวกและถูกต้อง

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมีข้อแนะนำสำหรับบุคคลที่ต้องการไปทำงานในประเทศสมาชิกหรือสำหรับกิจการที่ต้องส่งพนักงานของตนไปทำงานในต่างประเทศ เรื่องแรกที่จะกล่าวถึงคือ ภาระภาษีบุคคลธรรมดาในประเทศที่เข้าไปทำงานคงไม่ใช่แค่รู้ว่ามีอัตราภาษีเท่าไร แต่ต้องศึกษาถึงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาของประเทศที่เข้าไปทำงาน

หลักใหญ่ๆ คือ จะต้องรู้ว่าประเทศที่เข้าไปทำงานกำหนดการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากฐานเงินได้ของบุคคลดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก (Worldwide Basis) หรือเฉพาะฐานเงินได้ที่เกิดในประเทศผู้จัดเก็บภาษีเท่านั้น (Territorial Basis) เช่น สิงคโปร์ จัดเก็บภาษีจากแหล่งเงินได้ในสิงคโปร์เท่านั้น คือ ถ้าคนไทยไปทำงานที่สิงคโปร์มีเงินได้จากการทำงานในสิงคโปร์ก็ต้องเสียภาษีสิงคโปร์ตามเงินได้นั้น โดยไม่รวมเงินได้อื่นๆ ที่อาจมีในไทยที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานในสิงคโปร์ 

ขณะที่เวียดนามเก็บภาษีของผู้มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนาม (Resident) ตามฐานเงินได้ทั่วโลก หากคนไทยไปทำงานที่เวียดนาม และกลายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนามตามกฎหมายเวียดนามจะมีผลให้คนไทยต้องนำรายได้จากแหล่งนอกเวียดนามมาเสียภาษีในเวียดนามด้วย แม้ว่ารายได้นอกเวียดนามจะไม่เกี่ยวกับการทำงานในเวียดนามเลยก็ตาม

เรื่องที่สอง คือ ภาระภาษีในไทยในระหว่างไปทำงานในต่างประเทศ ประเทศไทยเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเงินได้จากแหล่งนอกประเทศไทยจะเสียภาษีไทยก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนำเงินได้ที่ได้จากแหล่งนอกประเทศไทยของปีนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกัน บุคคลธรรมดาจะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเมื่อบุคคลนั้นได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ในปีปฏิทินที่เกี่ยวข้อง

จากตัวอย่างเดิม หากบุคคลทำงานในสิงคโปร์ โดยปีนั้นไม่ได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน จะนำเงินได้จากสิงคโปร์เข้ามาหรือไม่ก็ไม่เสียภาษีไทย แต่ถ้าได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ในปีภาษีนั้น และนำเงินได้ที่ได้รับจากสิงคโปร์ในปีเดียวกันนั้นเข้ามาก็จะต้องเสียภาษีไทย กรณีนี้มักจะเกิดจากที่บุคคลทำงานในต่างประเทศระยะสั้นๆ หรือไม่ก็มีหน้าที่การงานในสองประเทศ

ดังนั้น หากต้องการได้รับการยกเว้นภาษีจากแหล่งเงินได้นอกประเทศจะต้องจัดลำดับการนำเงินได้ดังกล่าวเข้าประเทศไทยอย่างเหมาะสมเพื่อลดภาระภาษีซ้ำซ้อน 

เรื่องที่สาม นโยบายภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่กิจการที่ส่งพนักงานไปต่างประเทศควรพิจารณาว่าจะรับผิดชอบภาระภาษีที่พนักงานอาจต้องจ่ายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเพราะอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีไทย หรือเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่นค่าเช่าบ้านที่นายจ้างออกให้ แต่ต้องเสียภาษี ซึ่งภาษีที่เสียจะไปหักเงินเดือน ทำให้ได้รับเงินสุทธิน้อยลง เป็นต้น ในบางกิจการจึงมีนโยบายภาษีที่ช่วยแบ่งเบาภาระพนักงาน เพื่อจูงใจให้พนักงานไปทำงานต่างประเทศ

เรื่องสุดท้ายคือประกันสังคม ในประเทศสมาชิกอาเซียนเกือบทั้งหมดมีระบบประกันสังคมที่นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายสมทบ ขณะที่บางประเทศจะกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดการโดยรัฐซึ่งเป็นกองทุนภาคบังคับต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยที่เป็นเรื่องของความสมัครใจของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

เช่น บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นภาคบังคับของรัฐที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายสมทบโดยมีรัฐเป็นผู้จัดการกองทุน ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่าพนักงานที่ไปทำงานในประเทศนั้นๆ จะต้องจ่ายประกันสังคม หรือกองทุนภาคบังคับอื่นหรือไม่เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง

ในส่วนประกันสังคมไทยหากไปทำงานต่างประเทศและไม่ได้รับเงินได้ในไทยแล้ว กิจการไม่มีหน้าที่ต้องหักจากพนักงานและจ่ายสมทบเข้ากองทุน ซึ่งจะทำให้พนักงานขาดจากกองทุนประกันสังคม และอาจมีผลต่อการนับระยะเวลาในการจ่ายสมทบในกรณีจะใช้สิทธิในอนาคต ดังนั้นจึงควรให้พนักงานนำส่งประกันสังคมด้วยตนเองต่อไป เพื่อนับอายุการจ่ายอย่างต่อเนื่อง หรือหากยังมีหน้าที่การงานบางส่วนในไทยอาจมีการคงเงินเดือนบางส่วนจ่ายในไทย และคงประกันสังคมไว้ต่อไป แต่เงินได้ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีไทย