posttoday

คืบหน้าเขตศก.‘แม่สอด’ ท้องถิ่นขอสิทธิเพิ่มสู้ทุนนอก

11 พฤศจิกายน 2558

ทุกฝ่ายต่างมองเห็นตรงกันว่า “แม่สอด” จ.ตาก คือพื้นที่มากศักยภาพเหมาะแก่การพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดย...สมหทัย โมสิกะ

ทุกฝ่ายต่างมองเห็นตรงกันว่า “แม่สอด” จ.ตาก คือพื้นที่มากศักยภาพเหมาะแก่การพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเป็น “ประตูการค้า” แห่งสำคัญของประเทศไทยที่จะเชื่อมโยงไปยัง
ประเทศอื่นๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการผลักดันแม่สอดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษกลับต้องสะดุดลงเป็นระยะๆ หรือแม้แต่ในยุคของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็อาจจะไม่ยังเห็นภาพการลงทุนที่ชัดเจนในปีนี้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องพื้นที่ที่ภาครัฐจัดสรรเพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมและให้เอกชนเช่าในราคาถูก ที่ยังมีความขัดแย้งกับชาวบ้านที่เข้าไปครอบครองทำกินอยู่ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการลงทุนในพื้นที่ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เอกชนท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นว่ายังไม่ได้เอื้อประโยชน์สำหรับคนท้องถิ่นเท่าใดนัก แต่เป็นการให้ประโยชน์แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่มากกว่า

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก ชี้ว่า แนวทางการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องคำนึงถึงจุดเด่นและจุดด้อยของพื้นที่นั้นๆ ก่อน เพื่อวางแผนการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยศักยภาพของ อ.แม่สอด คือ การค้าชายแดน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์

โดยในส่วนของการค้าชายแดนนั้น จะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อรองรับตลาดที่กำลังเติบโต จะต้องร่วมมือกับฝ่ายเมียนมาในการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-เมียวดี ไปจนถึงย่างกุ้งให้ดีขึ้นอีก เพื่อเสริมความคล่องตัวของการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันควรพัฒนาโลจิสติกส์ปาร์ก ที่จอดรถบรรทุก ระบบคลังสินค้า ควรกำหนดตัว อ.แม่สอด ให้เป็นพื้นที่ฟรีเทรด เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนและผ่านแดนให้มากขึ้น

ด้านการท่องเที่ยว บรรพต เชื่อว่าในอีก 5 ปีจากนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในพื้นที่ขึ้นอีก โดยเฉพาะชาวเมียนมาที่มีรายได้มากขึ้นจะเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในเมืองไทย ซึ่งตอนนี้มีห้างค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเปิดสาขาในพื้นที่ และในเดือน ธ.ค.นี้ ห้างโรบินสันก็จะเปิดให้บริการอีกด้วย

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม่สอดมีห้องพักในโรงแรมเพิ่มขึ้นกว่า 100% ตอนนี้มีห้องพักรวมประมาณ 500 ห้อง แต่จะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นอีก เพื่อรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ในอนาคต”

เมื่อถามถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด บรรพต มองว่าความคืบหน้าที่เห็นได้ชัดเจนคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน 4 เลน เส้นทางตาก-แม่สอด การขยายรันเวย์ของสนามบินแม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 พร้อมโครงข่าย

อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เร็วขึ้น

“ผมคิดว่าสิทธิบีโอไอที่ไทยเสนอให้นักลงทุน ต่อให้ดีแค่ไหนก็แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เพราะเพื่อนบ้านมีความได้เปรียบอื่นที่ไทยไม่มี ทั้งสิทธิประโยชน์ภาษีจีเอสพีและการส่งออกตามโควตาจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งไทยไม่มีสิ่งนี้ คนที่อยากลงทุนผลิตเพื่อส่งออกอยากได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้” บรรพต อธิบาย

สอดคล้องกับ ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก ที่เห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์บีโอไอ ดังนั้นจึงเสนอว่า ควรจะกำหนดสิทธิประโยชน์แก่คนท้องถิ่นโดยเฉพาะ เช่น ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอาจจะกันพื้นที่ให้ทุนท้องถิ่นประมาณ 40%

“สิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ตอนนี้ เอสเอ็มอีท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์ ถ้ารัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีมากกว่านี้ ผู้ประกอบการก็พร้อมลงทุนทันที แม่สอดเก่งการค้า การท่องเที่ยว ก็ควรเน้นพัฒนาด้านนี้เป็นหลัก” ประเสริฐ ระบุ

ในฝั่งภาครัฐ สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผวจ.ตาก กล่าวว่า แม่สอดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ เช่น ทำเลที่ตั้ง เส้นทางสู่ประเทศเมียนมา มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น มีจุดแข็งด้านแรงงานที่จะใช้ในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นซิสเตอร์ ซิตี้ กับเมืองเมียวดี ของเมียนมา ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงในหลายมิติมากขึ้นในอนาคต

“นักลงทุนเกาหลีเคยถามว่า หากมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในแม่สอดจะหาแรงงานได้พอไหม ทักษะของแรงงานเป็นอย่างไร ผมตอบว่า เรามีแรงงาน และสามารถฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานให้ได้ แรงงานคือจุดแข็งของแม่สอด” สมชัยฐ์ กล่าว

ด้าน สุทธา สายวาณิชย์ รอง ผวจ.ตาก กล่าวถึงการลงทุนในพื้นที่ว่า ตอนนี้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในแม่สอด ซึ่งทางจังหวัดได้จัดตั้งคณะทำงานระดับตำบล 14 ชุด ในตำบลที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ คณะทำงานเหล่านี้จะดูแลการจัดโซนนิ่งในพื้นที่ตำบล เป็นศูนย์ประสานงานของแต่ละตำบลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

“คณะทำงานระดับตำบลจะต้องพิจารณาตำบลของตัวเองว่าเหมาะสมกับการทำอุตสาหกรรมประเภทใด ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้เน้นย้ำเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สุทธา ระบุ

ทั้งนี้ ตัวแทนภาครัฐของ จ.ตาก ให้ข้อมูลว่า มีนักลงทุนทั้งไทยและเทศได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่แล้ว เช่น ห้างมาบุญครอง ที่จะมาเปิดศูนย์การค้าและโรงแรม ห้างโรบินสัน ทุนอเมริกันทำโรงงานผลิตเสื้อผ้า ทุนญี่ปุ่นจะลงทุนโรงงานรองเท้า ส่วนทุนจากเกาหลีสนใจหาพื้นที่ทำสนามกอล์ฟ 2 แผ่นดินในฝั่งไทยและเมียนมา