posttoday

หอการค้านราธิวาส เปิดโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษ

02 พฤศจิกายน 2558

นราธิวาสเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ ซึ่งจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2559 ที่จะถึงนี้

โดย...อัสวิน ภฆวรรณ

นราธิวาสเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ ซึ่งจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2559 ที่จะถึงนี้ แต่ก่อนที่ภาครัฐจะเข้ามาเริ่มกระบวนการพัฒนาอย่างจริงจังในปีหน้า ล่าสุดภาคเอกชนใน จ.นราธิวาส ก็ได้หารือถึงรูปแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พวกเขาต้องการไว้แล้ว

ศรัณย์ วังสัตตบงกช  ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า  เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.นราธิวาส จะเริ่มปฏิบัติการในปี 2559  ที่เรียกว่าเฟส 2  ซึ่งขณะนี้ทางหอการค้าจังหวัด และ จ.นราธิวาส   ได้เตรียมการความพร้อมไว้หมดแล้วเพื่อรองรับโดยมีโครงการสำคัญ เช่น เขตอุตสาหกรรม อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส พื้นที่จำนวน 2,000 ไร่  ปลอดน้ำท่วม และเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างเส้นทางถนน 4 เลน สนามบิน และแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย ประมาณ 40 กิโลเมตร

“โดยขณะนี้มีนักลงทุนสั่งจองแล้วจำนวน 700 ไร่ ประมาณ 7-8  บริษัท  มีบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา บริษัทผลิตไฟฟ้าชีวมวล บริษัทแปรรูปปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และมีแนวโน้มบริษัทอุตสาหกรรมจากภูมิภาคต่างๆ จะเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขยายโรงงาน ขยายตลาด เนื่องจากการลงทุนมีเงื่อนไขที่ดี เพราะมีสิทธิพิเศษบวกสิทธิพิเศษ”

นอกจากเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.ยี่งอ แล้ว ยังมีพื้นที่อีก 4 อำเภอที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะพัฒนาไปพร้อมๆ กับเขตอุตสาหกรรมยี่งอ ประกอบด้วย อ.ตากใบ สุไหงโก-ลก แว้ง และสุคิริน

ศรัณย์   กล่าวว่า  โครงการเมืองชายแดน อ.สุไหงโก-ลก แว้ง และตากใบ   เป็นเมืองการค้าซึ่งเชื่อมต่อกับมาเลเซียด้วย 3 จุดผ่านแดน ซึ่งนอกจากการค้าชายแดนแล้วยังจะเป็นเมืองเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยเฉพาะสุไหงโก-ลก เป็นเมืองที่พัฒนาเจริญแล้ว  และรัฐกลันตันของมาเลเซีย ก็เป็นรัฐพัฒนาเจริญแล้ว  มีประชากรกว่า 2 ล้านคน และทั้งสองฝั่งต่างเป็นมุสลิมประมาณ 90%  ศาสนา วัฒนธรรรม ประเพณี ภาษาเดียวกัน ทั้งภาษามลายู จีน อังกฤษ กลมกลืนกัน

“อ.สุไหงโก-ลก จะเป็นเมืองท่องเที่ยวธรรมชาติพักผ่อนเพื่อสุขภาพ กิน ช็อป เที่ยว ส่วน อ.แว้ง และตากใบ ก็คล้ายคลึงกัน คือ ท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อสุขภาพ และในส่วนของ อ.สุคิริน เป็นเมืองท่องเที่ยวบริสุทธิ์  ที่ยังมีนกหายากอยู่เป็นจำนวนมาก  ภายในจังหวัดมีจุดขายทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก”

พร้อมไปกับการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจชายแดน ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ โดยเฉพาะระบบการคมนาคมขนส่งก็มีการเตรียมรองรับเช่นกัน นอกจากการพัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาส การปรับปรุงถนน 4 เลนจากหาดใหญ่ถึงสุไหงโก-ลก การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แล้ว ยังมีการเตรียมการสำคัญที่จะฟื้นการเดินรถไฟจากสุไหงโก-ลก เชื่อมเข้าไปยังสถานีปาเสมัสในฝั่งมาเลเซียอีกด้วย