posttoday

สภาพัฒนาการเมืองเก็บข้อมูล ผลกระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษ

21 ตุลาคม 2558

แม้เขตเศรษฐกิจพิเศษตามหัวเมืองชายแดนที่มีศักยภาพเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดย...จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์

แม้เขตเศรษฐกิจพิเศษตามหัวเมืองชายแดนที่มีศักยภาพเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นความหวังการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเร่งพัฒนาก็สร้างปัญหาสร้างผล
กระทบให้กับประชาชนส่วนหนึ่ง เช่น กรณีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทับที่ทำกินของชาวบ้านใน อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และทับป่าชุมชนในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

สภาพัฒนาการเมืองจึงได้ริเริ่มกระบวนการสัมมนาระดมความเห็นเก็บข้อมูลจากพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เปิดเวทีที่ จ.ตราด

สมาน ฟูแสง รองประธานสภาพัฒนาการเมืองคนที่ 1 กล่าวว่า การประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด เกิดปัญหาความขัดแย้งหลายพื้นที่ ส่วน จ.ตราด ยังไม่มีปัญหา เห็นว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเร็วเกินไป ได้ประกาศเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินและสาธารณประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้

“เราจึงทำให้เกิดเวทีและระดมสมองเพื่อเก็บข้อมูลด้วยการจัดเก็บข้อมูลจาก 3 เวทีและตราดเวทีที่ 4 สุดท้ายจะไปที่สระแก้ว และจะมีการประชุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อสรุปครั้งสุดท้าย เพื่อให้รัฐบาลทบทวนในส่วนที่มีปัญหา” รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าว

สมาน กล่าวว่า ผลสรุปจากเวทีที่ตราดจะรวบรวมพร้อมกับ 4 เวทีแล้วนำเสนอปัญหาให้รัฐบาล หลังได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งสุดท้ายก็จะมีตัวแทนจาก 5 จังหวัดที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเข้าร่วมประชุมพร้อมกับนักวิชาการ แล้วสรุปปัญหาทั้งหมดให้รัฐบาลได้ทบทวนในพื้นที่ที่มีปัญหา เพราะพื้นที่หลายแห่งต้องการนำอุตสาหกรรมการหนัก 13 ประเภทเข้าไปทำให้ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน หรือการประกาศพื้นที่พัฒนาทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของประชาชน เช่น ที่ จ.ตาก และมุกดาหาร ที่มีปัญหามากและได้รับการคัดค้านอยู่ แต่ที่ จ.ตราด ไม่มีปัญหามากนัก ซึ่งน่าจะเป็นโมเดลที่น่าสนใจเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดตราด มองในเรื่องของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้าน ชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ตราด มองว่า การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษมาจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแม้จะมีการตั้งที่เร็วไปก็จริงแต่ทางจังหวัดก็รับฟังเสียงและการตั้งเขตที่ อ.คลองใหญ่ ทางจังหวัดมองการพัฒนาในภาพรวมทั้งจังหวัดเพราะทุกอำเภอต้องเตรียมตัวรองรับความเจริญ

ผวจ.ตราด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จ.ตราด มีมูลค่าการค้ากับกัมพูชาสูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดเป็นฝีมือของประชาชนล้วนๆ แต่วันนี้รัฐบาลเข้ามาช่วย ซึ่งมั่นใจว่ามูลค่าการค้าจะมากและเพิ่มขึ้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนตราดที่ชอบความสงบ เรียบง่าย

“เรายังต้องเป็นเมืองกรีนซิตี้ เราจะไม่เอาอุตสาหกรรมหนัก แต่จะเอาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และนิคมอุตสาหกรรมจะไม่เข้ามาในพื้นที่เหมือนที่ จ.ระยอง แต่เราต้องการอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น” ผวจ.ตราด กล่าว