posttoday

ภาคใต้ลุยธุรกิจฮาลาลรับเออีซี

20 ตุลาคม 2558

ในจำนวนประชากรอาเซียนกว่า 600 ล้านคน กล่าวได้ว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามน่าจะมีมากกว่าครึ่ง

โดย...อัสวิน ภฆวรรณ

ในจำนวนประชากรอาเซียนกว่า 600 ล้านคน กล่าวได้ว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามน่าจะมีมากกว่าครึ่ง ตลาดสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามจึงเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญส่งเสริมกิจการอาหารฮาลาล หรืออาหารที่มีกรรมวิธีผลิตถูกต้องตามหลักศาสนา ซึ่งจะมีคณะกรรมการอิสลามเป็นผู้ตรวจสอบและอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง

คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองเลขาธิการรัฐสภา เปิดเผยว่า โครงการฮาลาลได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ทั้งผู้ประกอบการมุสลิมและที่มิใช่มุสลิม 

“ขณะนี้ได้มีโครงการยกระดับร้านอาหารมุสลิม เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการเข้าโครงการทั่วประเทศจำนวน 3,500 ร้าน จาก 39 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อให้นานาประเทศยอมรับร้านอาหาร โดยได้รับอนุญาตอนุมัติเครื่องหมายฮาลาล ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 5 จังหวัด”

คัมภีร์ กล่าวอีกว่า สินค้าฮาลาลจะได้รับการตอบรับและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกชนชาติ ศาสนา จะหันมาบริโภคอาหารผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพราะสินค้าที่ได้รับรองฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ของใช้ หรืออาหาร ถือว่าได้รับมาตรฐานความปลอดภัย เพราะในประเทศไทยมีอุปกรณ์เครื่องมือศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นแห่งแรกของโลก สามารถพิสูจน์ทราบได้ จึงเกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือมาตรฐานฮาลาลของไทย

“ต่อไปเครื่องสำอาง เช่น ครีม โลชั่น แชมพู สบู่ เป็นต้น ที่จะต้องใช้กันเป็นจำนวนมากก็จะต้องมีฮาลาล เพราะผลิตภัณฑ์บางตัวยังมีการใช้วัตถุดิบจากสัตว์ ซึ่ง ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จะมีการขับเคลื่อนฮาลาลไปในทุกมิติ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ได้ขออนุญาตเครื่องหมายฮาลาลแล้วเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันโดยภาพรวมอาหารผลิตภัณฑ์ฮาลาล ฯลฯ มีเม็ดเงินประมาณ 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ”

ด้าน วีระ หัสหมัน ประธานคณะกรรมการฝ่ายฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า สำหรับ จ.พัทลุง ได้มีการอนุญาตฮาลาลไปแล้ว 58 ราย และมีรายใหม่และที่จะทำการอนุมัติอีก 38 ราย นอกนั้นยังมีการขออนุญาตมาอย่างต่อเนื่องเดือนละ 1-2 ราย มีทั้งกิจการน้ำดื่ม เครื่องแกง ขนม งานโอท็อป และร้านอาหาร เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีจำนวนหลายรายที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และยังมีส่วนหนึ่งได้ขออนุญาตและมีผลประกอบการ แต่เมื่อหมดอายุ ยังไม่ได้มาต่อใบอนุญาตฮาลาลอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม กระแสการปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทั้งสินค้าและอาหารให้ได้มาตรฐานฮาลาล เดินหน้าพัฒนากันอย่างคึกคัก