posttoday

อุดรฯยื่น 7 ข้อเสนอ รองรับรถไฟทางคู่ผ่านเมือง

11 กันยายน 2558

แม้แผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กทม.-หนองคาย ช่วงผ่าน จ.อุดรธานี จะก่อสร้างตามแนวรางเดิม

โดย...ยุทธพงษ์ กำหนดแน่

แม้แผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กทม.-หนองคาย ช่วงผ่าน จ.อุดรธานี จะก่อสร้างตามแนวรางเดิม ซึ่งตัวสถานีอุดรธานีนั้นก็จะสร้างบริเวณสถานีรถไฟเดิม ซึ่งกระทบต่อยุทธศาสตร์ย้ายการรับส่งสินค้าออกไปที่สถานีรถไฟหนองตะไก้ ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งจะเป็น “คอนเทนเนอร์ยาร์ด” ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งยางแท่งด้วยรถไฟไปยังท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนอุดรธานีก็ยังยืนยันที่จะพัฒนาสถานีหนองตะไก้ให้เป็นพื้นที่ขนส่งสินค้าเช่นเดิม โดยเสนอให้สถานีอุดรธานีเป็นจุดเฉพาะการรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่วนการขนส่งสินค้านั้นให้ใช้สถานีหนองตะไก้ ซึ่งจากการประชุมร่วมกันระหว่างเทศบาลนครอุดรธานี การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี พร้อมด้วยผู้นำชุมชน 23 ชุมชนที่ติดทางรถไฟ ก็ได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อถึง รฟท.

ข้อเสนอทั้ง 7 ประกอบด้วย 1.ขอให้ยกระดับทางรถไฟทั้งหมดช่วงผ่านเมือง เหมือนกับโครงการรถไฟทางคู่ความเร็วปานกลาง 2.ก่อสร้างและคงไว้คลองและถนนเลียบคู่ขนานทางรถไฟ แก้ปัญหา
น้ำท่วมเมือง 3.การเวนคืนผู้เช่าในพื้นที่การรถไฟฯ ให้พิจารณาตามจริง 4.ขอเป็นสถานีเฉพาะส่งผู้โดยสาร ส่วนสินค้าให้ดำเนินการนอกเมือง หรือที่ จ.อุดรธานี พิจารณาเลือกที่สถานีหนองตะไก้

5.พื้นที่ด้านล่างทางยกระดับ ขอจัดเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นปอดของเมือง 6.จัดพื้นที่จอดรถขนส่งมวลชน แยกคนละส่วนกับพื้นที่จอดรถอื่น รองรับขนส่งมวลชนในอนาคต อาทิ รถราง รถเมล์ติดแอร์และ 7.ถนนด้านศาลเจ้าปู่ย่า ขอเชื่อมทางเข้าออกนอกเหนือจากทางเข้าหลักถนนทองใหญ่

ด้าน วีระ ศานติวรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลนครอุดรธานีที่มีสถานีรถไฟอุดรธานีเป็นจุดสำคัญที่จะต้องพัฒนา เบื้องต้นศึกษาไว้ 2 แนวทาง คือ สถานีระดับดินหรือสถานียกระดับ แต่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะทำการก่อสร้างแบบยกระดับ 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ดังกล่าวเริ่มต้นจากสถานีรถไฟนครราชสีมา สิ้นสุดโครงการที่สถานีรถไฟหนองคาย ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร เป็นทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร วางขนานด้านทิศตะวันออกไปกับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ของ รฟท. รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขบวนรถสินค้าวิ่งร่วมด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ 235,325 ล้านบาท รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565