posttoday

'มาสด้า'ยุติรถใช้น้ำมัน2035

16 กันยายน 2560

ค่ายรถญี่ปุ่นทยอยปรับแผนใหญ่มุ่งสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า มาสด้าขอ 18 ปี ปิดฉากรถน้ำมัน ด้านนิสสันเล็งออกรถอีวี12รุ่นดันสัดส่วนแตะ40%

ค่ายรถญี่ปุ่นทยอยปรับแผนใหญ่มุ่งสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า มาสด้าขอ 18 ปี ปิดฉากรถน้ำมัน  ด้านนิสสันเล็งออกรถอีวี12รุ่นดันสัดส่วนแตะ40%

สำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัท มาสด้า มอเตอร์ จะยกเลิกการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาป โดยหันมาผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) และรถเครื่องยนต์ไฮบริดทั้งหมดภายในปี 2035 ซึ่งนับเป็นค่ายรถญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่รายแรกที่ตั้งเป้าหมายดังกล่าว เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะในยุโรปที่ปรับกฎเพิ่มความเข้มงวดด้านการปล่อยมลพิษมากขึ้น

รายงานระบุว่า มาสด้ายังไม่มีการผลิตรถยนต์อีวีและรถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก โดยมีเพียงรถไฮบริดแบบเดิมที่ใช้แบตเตอรี่ และรถยนต์เครื่องสันดาปที่ใช้น้ำมัน แต่เมื่อเดือนที่แล้ว มาสด้าได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนารถอีวีและเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในสหรัฐ โดยมาสด้าคาดว่าจะสามารถเปิดตัวรถอีวีได้ครั้งแรกในสหรัฐ ภายในปี 2019

อย่างไรก็ดี โฆษกของบริษัท มาสด้ายังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าวของเกียวโด

ข่าวการปรับตัวดังกล่าวของค่ายรถใหญ่ญี่ปุ่น มีขึ้นในขณะที่ค่ายรถยนต์หลายแห่งทั่วโลกต่างประกาศแผน ปรับตัวเข้าสู่ยุคของรถอีวีและไฮบริด

ตั้งแต่ทศวรรษหน้าเป็นต้นไป โดยบริษัท วอลโว่ เป็นค่ายแรกที่ประกาศว่าจะยุติการผลิตรถใช้น้ำมันทั้งหมดในปี 2019 ขณะที่โฟล์คสวาเกน จะปรับสัดส่วนการผลิตรถใหม่ให้เป็นไฮบริดและอีวีราว 80% ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 2025

ในวันเดียวกัน บริษัท เรโนลต์- นิสสัน ประกาศจะผลิตรถอีวี 12 รุ่น ภายในปี 2022 และจะทำให้รถยนต์ปลอดไอเสียมียอดขายกว่า 20% ของยอดขายทั้งหมดในเครือ ซึ่งตั้งเป้าหมายรวมในปีดังกล่าวไว้ที่ 14 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเกือบ 40% และเป้าหมายรายได้ที่ราว 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 7.93 ล้านล้านบาท)

ปัจจุบัน เครือนิสสันยังคงเป็นผู้นำกลุ่มรถอีวีในด้านยอดขาย โดยมียอดขายในไตรมาสแรกปีนี้ราว 3.6 หมื่นคัน นำโดยนิสสัน ลีฟ และตามมาด้วยรถอีวีของบริษัท เทสล่า มอเตอร์ส ที่ 2.49 หมื่นคัน

คาร์ลอส กอส์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเรโนลต์-นิสสัน กล่าวด้วยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการทำงานร่วมกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ ที่เพิ่งถูกควบรวมเข้ามาให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายลงราว 1 หมื่นล้านยูโร (เกือบ 4 แสนล้านบาท) ภายในปี 2022 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีแผนจะยุบรวมพันธมิตรทั้งหมดในเครือให้เหลือเพียงบริษัทเดียว เพราะยังต้องการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละบริษัทอยู่

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์อันดับ 2 ในญี่ปุ่นยังระบุว่า จะมุ่งพัฒนาด้านยานยนต์ไร้คนขับ และมีแผนจะเปิดตัวรถขับเครื่องด้วยโรบอต รวมถึงโรโบ-แท็กซี่ ด้วย