posttoday

ค่ายรถคุมเชิง รอให้ชัดปรับภาษีใหม่

08 สิงหาคม 2560

การดำเนินการยื่นขอปรับราคาจึงเป็น “ความเสี่ยง” ที่อาจไม่คุ้มค่าเมื่อจะต้องเจอการตรวจสอบที่เข้มงวดในเวลานี้

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ก่อนถึงเวลาการประกาศให้มีผลบังคับใช้ของการปรับเปลี่ยนการคิดคำนวณภาษีจากหน้าโรงงานเป็นราคาขายปลีกในวันที่ 16 ก.ย. 2560 นี้ การเตรียมการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อาจจะยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวมากนักด้วยสาเหตุที่กรมสรรพสามิตยังไม่มีการประกาศอัตราที่ชัดเจนออกมา หากแต่มีการยืนยันให้สบายใจว่าจะปรับเปลี่ยนเพียงวิธีการคิดคำนวณเท่านั้น พยายามจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคในการรับภาระการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้

จนกระทั่งล่าสุด บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ถือเป็นบริษัทแรกที่มีการเคลื่อนไหวในการปรับโครงสร้างราคาของบริษัทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการปรับเปลี่ยนการคำนวณอัตราภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้น

สเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทปรับโครงสร้างราคาขายของบริษัทด้วยการแยกราคาโปรแกรมบริการหลังการขาย (บีเอสไอ) ออกจากราคาขายรถยนต์บีเอ็มฯ และมินิทุกรุ่น ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยลดลงราว 3 หมื่นบาท

พร้อมกันนี้ ได้เสนอทางเลือกสำหรับโปรแกรมบริการหลังการขายสำหรับการบำรุงรักษาและการรับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภคราคาเริ่มต้น 3 หมื่น-1 แสนบาท จากเดิมที่มีการบำรุงรักษาสูงสุด 5 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตร และรับประกัน 5 ปี เพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาและโปรแกรมดังกล่าวจะเริ่มให้บริการโดยผู้แทนจำหน่ายบีเอ็มฯ และมินิอย่างเป็นทางการทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2560 เป็นต้นไป

“การปรับโครงสร้างราคาของบริษัทเป็นการปรับเพื่อรองรับการคิดคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่คำนวณจากราคาขายปลีกจากเดิมคำนวณจากราคาหน้าโรงงาน”ทอยเชอร์ต กล่าว

การดำเนินการดังกล่าวของบีเอ็มฯถือได้ว่าเป็นการลดทอนราคาส่วนที่มีผลต่อราคาขายปลีกซึ่งจะถูกนำไปคิดคำนวณอัตราภาษีที่อาจสูงขึ้นได้หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2560 สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้มีการเรียกผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์เข้าร่วมหารือถึงการเปลี่ยนแปลงการคำนวณภาษีดังกล่าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นการประกาศเรียกนั้น ต่างเข้าใจตรงกันว่าจะมีการชี้แจงรายละเอียดและอัตราตัวเลขที่ชัดเจน แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่เมื่อการเรียกดังกล่าวกลายเป็นเพียงการ “ใบ้หวย” พยายามสื่อสารในการให้บริษัทต่างๆ ไปเปรียบเทียบเองในอัตราที่คิดว่าจะใกล้เคียงของเดิมที่สุด

ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาขายปลีกคิดคำนวณจากฐานต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 76% ของราคาขาย ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดคำนวณอัตราดังกล่าวจะปรับขึ้นเป็น 100% หมายความว่า หากเดิมรถยนต์คันหนึ่งเสียภาษีสรรพสามิตสูงสุดอยู่ที่ 30% ในส่วน 30% นั้น อาจจะลดลงเพื่อทดแทนการเพิ่มขึ้นของฐานการคำนวณจากอัตรา 76% ที่เป็น 100% ซึ่งอัตราที่ลดลงเฉลี่ยมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ระหว่าง 24-27%

นอกจากนั้น การคิดคำนวณจากภาษีฝังในจะปรับเปลี่ยนเป็นภาษีตรง จึงอาจจะต้องมีการถอดสูตรการคิดคำนวณต่างๆ อย่างมหาศาล แต่ละบริษัทภายหลังการเข้าร่วมหารือในวันที่ 3 ส.ค. 2560 ไปแล้วนั้น อาจจะพอมีแนวทางในการคิดคำนวณในแต่ละรุ่นของตัวเอง เนื่องจากทราบต้นทุนของแต่ละรุ่นของแต่ละบริษัทอยู่แล้ว

เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการรองรับการปรับเปลี่ยนการคิดคำนวณอัตราภาษีใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งบริษัทรอความชัดเจน แต่ได้มีการประชุมภายในเพื่อรายงานให้ระดับบริหารรับทราบแล้ว

ขณะที่ อัชฌ์ บุณยประสิทธิ์ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินงานรับมือการปรับการคำนวณภาษีใหม่บริษัทยืนยันว่า ยังไม่มีการประกาศความชัดเจนใดๆ ในการดำเนินการหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาใดๆ เชื่อว่าการดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องของกลยุทธ์การสื่อสารไปยังผู้บริโภคของแต่ละบริษัทเท่านั้น ซึ่งบริษัทจะต้องรอความชัดเจนในการประกาศอัตราของรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดคำนวณอัตราภาษีจากราคาหน้าโรงงานเป็นราคาขายปลีกของรัฐบาล พร้อมที่จะปฏิบัติตามบนพื้นฐานความถูกต้อง และยืนยันว่าบริษัทจะไม่มีการตัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ของผู้บริโภคเพื่อให้ราคาขายปลีกลดลงอย่างแน่นอน

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า การประกาศปรับโครงสร้างราคาของบีเอ็มฯ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้นั้น เชื่อว่า เป็นการปรับกลยุทธ์ภายในบริษัทดังกล่าว หากสามารถดำเนินการได้บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ต่างคงไม่ยอมน้อยหน้า เพื่อให้เกิดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดได้อย่างสูงสุด

หากแต่เงื่อนไขในการสำแดงราคาต่อกรมสรรพสามิตนั้น จะต้องมีการชี้แจงต้นทุนและที่มาในการดำเนินงานอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการตรวจสอบเพื่อป้องกันการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง อีกทั้งยังมีบทลงโทษที่รุนแรงในการควบคุมและตรวจสอบหลายขั้นตอน จึงเชื่อว่าการยื่นขอการปรับโครงสร้างราคาของบริษัทต่างๆ ในลักษณะเดียวกันกับบีเอ็มฯ จะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ

ดังนั้น การดำเนินการยื่นขอปรับราคาจึงเป็น “ความเสี่ยง” ที่อาจไม่คุ้มค่าเมื่อจะต้องเจอการตรวจสอบที่เข้มงวดในเวลานี้ หลายบริษัทจึงยังคงรอความชัดเจนในการประกาศอัตราดังกล่าว และยังมีความเชื่ออีกว่า การยืนยันของรัฐบาลในการที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคจะเป็นทางออกของปัญหาในวันนี้ได้อย่างดีที่สุด