posttoday

โตโยต้าเทแสนล้าน ใช้ไทยเป็นฐานผลิตคอมแพกต์คาร์ส่งขายทั่วโลก

25 เมษายน 2560

“โตโยต้า” ทุ่มเงินลงทุนสูงสุดรอบ 50 ปี ใช้ไทยฐานผลิตคอมแพกต์คาร์ส่งออกทั่วโลก เสนอแผนเข้าบอร์ดพิจารณา พ.ค.นี้

“โตโยต้า” ทุ่มเงินลงทุนสูงสุดรอบ 50 ปี ใช้ไทยฐานผลิตคอมแพกต์คาร์ส่งออกทั่วโลก เสนอแผนเข้าบอร์ดพิจารณา พ.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายชินยะ โคเทระ เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบหารือและยืนยันว่ากลุ่มโตโยต้ายังคงให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุด โดยเลือกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก หรือคอมแพกต์คาร์ เพื่อส่งออกไปทั่วโลก

ทั้งนี้ ผู้บริหารโตโยต้าได้ระบุถึงแผนการลงทุนของบริษัททั้งในส่วนการวิจัย พัฒนาและผลิตคอมแพกต์คาร์ ควบคู่กับการผลิตรถกระบะ รถยนต์ไฮบริด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจากการลงทุน ทั้งการผลิตแบตเตอรี่และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่กำลังส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

“ผู้บริหารโตโยต้ายืนยันว่าในระยะต่อจากนี้ไป กลุ่มโตโยต้าจะลงทุนในประเทศไทยมากกว่าช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยในเดือน พ.ค.นี้ คณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดชุดใหญ่ของโตโยต้า จะอนุมัติโครงการลงทุนของบริษัท ก่อนเดินหน้าลงทุนอย่างเต็มตัว สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นทางโตโยต้าให้ความเห็นว่าหากมีการผลิตจำนวนมากขึ้น ในอนาคตจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยด้วย ซึ่งมีแผนงานไว้เรียบร้อยแล้ว แสดงถึงความมั่นใจลงทุนในประเทศไทย”นายสมคิด กล่าว

สำหรับโครงการอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต คอมแพกต์คาร์ จะดำเนินการโดยบริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มโตโยต้าเข้าซื้อกิจการจากไดฮัทสุ 100%

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนในประเทศไทยกว่า 50 ปีที่ผ่านมาโตโยต้าใช้งบลงทุนผลิตรถประเภทต่างๆ รวมหลายแสนล้านบาท และล่าสุดได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทขึ้นเป็น 7,520 ล้านบาท

ด้าน นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เข้าพบนายสมคิด ว่ากลุ่มผู้บริหารของบริษัทจากเนเธอร์แลนด์ได้สะท้อนปัญหาในการทำธุรกิจที่ต้องการให้ทางการไทยช่วยเหลือ เช่น บริษัท เชลล์ ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันกว่า 500 แห่ง มีส่วนแบ่งตลาด 13% ต้องการขยายปั๊มเพิ่มเป็น 900 แห่ง แต่ติดปัญหาว่านักลงทุนต่างชาติไม่สามารถนำที่ดินออกเช่าได้ ทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่ในปั๊มหารายได้อื่นๆ นอกจากการขายน้ำมันซึ่งมีกำไรค่อนข้างต่ำ จึงอยากให้รองนายกรัฐมนตรีช่วยดูแลปัญหานี้

ขณะที่กลุ่มไอเอ็นจีปัจจุบันถือหุ้นในธนาคารทหารไทย ต้องการให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างความชัดเจนในการลงทุนและแสดงความสนใจที่ให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในอีอีซีได้เสรีกว่าการตั้งในพื้นที่อื่น

อย่างไรก็ตาม นายสมคิด รับการสะท้อนปัญหาของนักลงทุนเพื่อให้ส่วนราชการทั้งกระทรวงพาณิชย์ บีโอไอ นำไปพิจารณาส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริม เพราะราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาลงทุนอยู่กับไทยเป็นเวลานาน และรัฐบาลไทยพร้อมจะเดินทางไปพบนักลงทุนในเนเธอร์แลนด์ เหมือนกับที่ได้เดินทางไปที่ฝรั่งเศส เยอรมนี เพื่อเชิญนักลงทุนมาลงทุนในไทยหลายราย เช่น แอร์บัส มิชลิน ผู้ผลิตยางคอนติเนนตัล