posttoday

ผู้เสียหายจากการใช้รถฟอร์ดยื่นฟ้องศาลแพ่ง

03 เมษายน 2560

ทนายความนำกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถฟอร์ด ยื่นฟ้องศาลแพ่ง ฐานจำหน่ายรถยนต์ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา

ทนายความนำกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถฟอร์ด ยื่นฟ้องศาลแพ่ง ฐานจำหน่ายรถยนต์ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่บริเวณด้านหน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายเกรียงไกร นาควะรี ทนายความ นำกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด กว่า 50 คน ซึ่งเป็นตัวแทนผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้าและรุ่นโฟกัส ทั้งหมด400คัน เป็นโจทย์ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อสู้คดีกับ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากจำหน่ายรถยนต์ไร้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา และทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตราย

นายกอร์ปศักดิ์ นุ่มน้อย แกนนำกลุ่มผู้เสียหาย กล่าวว่า เหตุผลที่ตนเดินทางมาวันนี้ เพื่อขอให้ศาลคุ้มครองและรับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม กรณีที่บริษัทฟอร์ดจำหน่ายรถยนต์ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ประสบปัญหาในการใช้รถยนต์ เช่น ไฟไหม้ห้องเครื่องและตัวรถ ปัญหาระบบเกียร์ รถสั่น กระตุก กระชาก เร่งไม่ขึ้น เครื่องร้อน และมีเสียงดังผิดปกติจากเครื่องยนต์ และปัญหาชิ้นส่วนอื่น ๆ ของรถยนต์เสื่อมสภาพและชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ เมื่อเทียบกับรถยนต์ยี่ห้ออื่นทั่วไป เช่น พวงมาลัย เบรก สายพาน หม้อน้ำ โช๊ค หรือแม้แต่ประตูรถเปิดออกเองในขณะขับขี่ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ใช้รถฟอร์ดทั้งสองรุ่นประสบปัญหารถยนต์ชำรุดบกพร่องในลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจึงรวมตัวกันเพื่อฟ้องร้ององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งหากศาลแพ่งรับฟ้องคดีนี้ให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ก็จะถือเป็นคดีแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศไทย

"ผู้บริโภคต้องต่อสู้มากว่า 3 ปี พวกเราเดือดร้อนกันมาก หลายครั้งที่เดินทางไปร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ ต้องเสียการเสียงาน ลำบากเดือดร้อนในการเดินทางหลายรอบ ทั้งที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม และกรมการขนส่งทางบก แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เราเกรงว่าความล่าช้าของหน่วยงานราชการอาจเปิดช่องให้ทางบริษัทใช้เป็นเครื่องมือในการประวิงเวลาให้รถพ้นระยะประกัน หรือคดีขาดอายุความ เราจึงต้องหันไปพึ่งทนายความเอกชน"นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า  การต่อสู้หลังจากนี้ต้องพึ่งอำนาจศาล คงใช้วิธีไกล่เกลี่ยไม่ได้แล้ว เพราะที่ผ่านมา ทางบริษัทไม่เคยยอมเจรจากับผู้เดือดร้อนโดยตรงเลย ต่อจากนี้คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะเห็นถึงความเดือนร้อนของประชาชน และศาลจะคุ้มครองโดยรับเป็นคดีแบบกลุ่ม เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา ช่วยให้ผู้เดือดร้อนไม่ต้องแบกภาระหนักในการต่อสู้คดีที่เป็นผู้เสียหาย และหากศาลมีคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม คำพิพากษานั้นก็จะมีผลคุ้มครองผู้เดือดร้อนจากการใช้สินค้าตัวเดียวกันนี้อย่างทั่วถึงด้วย