posttoday

แนะรัฐเพิ่มเทคโนโลยีขยายชนิดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

27 มีนาคม 2560

ไทยสามารถเป็นประเทศที่เกิดการลงทุนได้ แต่จะต้องมีตัวช่วยในการสร้างปริมาณความต้องการให้เพิ่มขึ้น

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 ได้มีการอนุมัติการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมี 3 แบบ ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (เอชอีวี) กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (พีเอชอีวี) และกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) และเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมในปี 2561 นั้น ตามเกณฑ์ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนภายใน 3 ปี จึงคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในไทยภายใน 5 ปีแล้วก็ตาม

ในอีกด้านหนึ่งของผู้ประกอบการที่ต้องถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความสนใจลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีความพร้อมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในต่างประเทศอย่าง "นิสสัน" ได้สะท้อนแนวคิดและความเป็นไปได้ในการลงทุนในฐานะผู้ประกอบการ

เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนสำหรับโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจะต้องมีเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลในการลงทุน ซึ่งต้องมีการพิจารณาด้านความคุ้มค่าการลงทุน อาทิ ปริมาณความต้องการผู้บริโภค ปริมาณการส่งออก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยความคุ้มค่าด้านการลงทุนในการผลิตจะต้องมีการผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อย 1 แสนชิ้น/ปี

"ถึงแม้บริษัทจะมีความพร้อมเต็มที่ แต่ในเงื่อนไขด้านความต้องการถึงตลาดเป็นสิ่งสำคัญจึงค่อนข้างหนักใจพอสมควร เพราะตลาดในประเทศไทยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้ยังเป็นศูนย์อยู่ ซึ่งควรที่จะต้องสร้างตลาดหรือการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปในช่วงแรกก่อน"

ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอมีเพียง 3 แบบ คือ อีวี เอชอีวี และ บีอีวี ซึ่งบริษัทมองว่าประเทศไทยสามารถเป็นประเทศที่เกิดการลงทุนได้ แต่จะต้องมีตัวช่วยในการสร้างปริมาณความต้องการให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้โรงงานแบตเตอรี่เกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับบริษัทมีเทคโนโลยีหนึ่งที่ชื่อว่าเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ (E-Power) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการทำงานเทียบเท่ากับ อีวี โดยแบตเตอรี่เป็นชนิด ลิเธียมไอออน เช่นเดียวกันจะสามารถขยายปริมาณการผลิตแบตเตอรี่ขึ้นได้หากมีการสนับสนุนให้ได้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมในส่วนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทเคยนำเสนอต่อรัฐบาลในการสร้างความนิยมและการตอบรับเทคโนโลยีของผู้บริโภคอย่างน้อย 3 ปี ที่เริ่มต้นจากศูนย์ โดยอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปเข้ามาทำตลาดในช่วงแรกมีส่วนช่วยอย่างเห็นได้ชัดทั้งในด้านราคาขายสู่ผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งถึงแม้ เทคโนโลยี อีวี จะเสียภาษีสรรพสามิตที่คำนวนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่แล้วแต่ภาษีนำเข้าเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาจำหน่ายสูง

แนะรัฐเพิ่มเทคโนโลยีขยายชนิดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รถยนต์ในอนาคต จะต้องประกอบไปด้วยหลายส่วนด้วยกัน คือ 1.ประหยัดพลังงาน 2.ปล่อยมลพิษน้อย 3.มีระบบสื่อสารทันสมัย และ 4.สนับสนุนการขับหรือขับได้เอง

นอกจากนี้ ในอนาคตหากรถยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงานจะขายไม่ได้ เนื่องจากมาตรฐานทั่วโลกที่มีข้อกำหนดในการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

สำหรับอีกปัจจัยด้านการอัดประจุสำหรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ากับเทคโนโลยีไฟฟ้าใช้เซลเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในอนาคตทั้งคู่เป็นส่วนสำคัญ โดยรถยนต์ไฟฟ้าใช้เวลาการอัดประจุนาน 30 นาที วิ่งได้ 250 กิโลเมตร (กม.) ใช้เงินลงทุนสถานี 5 ล้านเยน หรือ 1.55 ล้านบาท ( 1 เยน/0.31 บาท) ขณะที่ รถยนต์ไฟฟ้าใช้เซลเชื้อเพลิงใช้เวลาการอัดประจุนาน 3 นาที วิ่งได้ 500 กม. ใช้เงินลงทุนสถานี 500 ล้านเยน หรือ 155 ล้านบาท

ดังนั้น ในเวลานี้ถึงแม้ยังอยู่ในช่วงการเตรียมการออกประกาศ แต่ความรอบคอบและความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดคงจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้เทคโนโลยีแห่งอนาคตเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อาเซียน ซึ่งต้องวิ่งให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน