posttoday

'นูโตโนมี'เฉือนอูเบอร์ เจาะแท็กซี่ไร้คนขับในสิงคโปร์

27 สิงหาคม 2559

นูโตโนมี บริษัทสปินออฟจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือที่รู้จักกันดีในนามเอ็มไอที เริ่มปฏิบัติการบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับเป็นที่แรกของโลกในสิงคโปร์

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา นูโตโนมี บริษัทสปินออฟจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือที่รู้จักกันดีในนามเอ็มไอที เริ่มปฏิบัติการบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับเป็นที่แรกของโลกในสิงคโปร์ โดยแม้จะจำกัดเส้นทางการเดินทางอยู่ในละแวกธุรกิจของสิงคโปร์กินบริเวณเพียง 2.5 ตารางกิโลเมตร แต่ก็นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับแซงหน้าอูเบอร์ บริการแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบบริการดังกล่าว

บริษัท นูโตโนมี ก่อตั้งเมื่อปี 2013 จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จากเอ็มไอที ซึ่งวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่มานับ 10 ปี โดยนูโตโนมีเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ควบคู่ไปด้วย ในขณะที่ เอมิลิโอ ฟราซโซลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) เคยจับมือเป็นหุ้นส่วนกับสิงคโปร์ในการบริการรถกอล์ฟเคลื่อนที่ไร้คนขับในสนามกอล์ฟสิงคโปร์มาแล้ว ก่อนที่จะเปิดตัวแท็กซี่ไร้คนขับดังกล่าว

บริการของนูโตโนมีนั้นคล้ายคลึงกับอูเบอร์ คือเป็นแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ไร้คนขับมา พร้อมระบุจุดหมายปลายทาง ก่อนแท็กซี่ไร้คนขับจะพาไปให้ถึงจุดหมาย อย่างไรก็ตาม นูโตโนมีลงซอฟต์แวร์ไว้ให้มนุษย์สามารถเป็นผู้ขับรถยนต์ได้หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น และในปัจจุบันยังจำกัดกลุ่มเป้าหมายอยู่แค่ลูกค้าที่ได้รับเลือกเท่านั้น ขณะที่ย่านที่ใช้ทดสอบนั้นก็เป็นย่านที่เงียบสงบกว่าย่านอื่นๆ และท้องถนนไม่พลุกพล่านมากนัก

รถยนต์ไร้คนขับที่ให้บริการนั้นเป็นรถยนต์ของมิตซูบิชิ ซึ่งเป็นยานยนต์ไร้คนขับระดับ 4 หรือระดับที่รถยนต์เป็นผู้ดำเนินการขับเองทั้งหมด ผู้ใช้เพียงแค่เปิดประตูเข้าไปนั่งและเลือกจุดหมายปลายทางเท่านั้น ในขณะที่รถยนต์ไร้คนขับส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นรถยนต์ไร้คนขับระดับ 3 หรือจำเป็นต้องให้ผู้ขับขี่คอยควบคุมด้วยเล็กน้อย

“ในความเห็นของผม ตอนนี้มีตรรกะวิบัติในแวดวงยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งคือ ‘รถยนต์ควรขับได้เหมือนกับมนุษย์’ แล้วทำให้เราคิดว่า มนุษย์มีลักษณะการขับรถที่ต่างไปจากหุ่นยนต์ แต่ในความเป็นจริง พวกเราควรที่จะคิดว่ายานยนต์ไร้คนขับควรขับอย่างมีมาตรฐาน มีเหตุมีผล มั่นใจ และเป็นผู้ขับขี่ที่ปลอดภัย” คาร์ล เอียกเนมมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของนูโตโนมี กล่าว


สิงคโปร์หนุนสตาร์ทอัพเทคโนโลยี

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นูโตโนมีขึ้นมาแซงหน้าอูเบอร์ ในการเป็นผู้นำด้านแท็กซี่ไร้คนขับ เป็นผลมาจากการเป็นสตาร์ทอัพที่จับมือเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกับสิงคโปร์ ซึ่งทำให้นูโตโนมีมีสนามทดสอบพร้อมท่ามกลางความพยายามของสิงคโปร์ในการผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีด้วยการสนับสนุนเงินทุนและเป็นผู้วิจัยร่วม ขณะเดียวกัน นูโตโนมียังเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับร่วมกับจากัวร์และแลนด์โรเวอร์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน

ดัก พาร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของนูโตโนมี เปิดเผยว่า รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความช่วยเหลือในหลากด้านเพื่อให้นูโตโนมีประสบความสำเร็จ และนูโตโนมีจะต้องมีคุณสมบัติบางประการที่รัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับเสียก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริงบนท้องถนนส่วนอื่นๆ ของประเทศ โดยพาร์เกอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดคุณสมบัติดังกล่าว แต่ระบุว่าเป้าหมายต่อไปคือขยายพื้นที่ให้บริการอีกหนึ่งย่าน

ทั้งนี้ สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสตาร์ทอัพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยความสนับสนุนจากภาครัฐ โดยก่อนหน้านี้นูโตโนมีสามารถเพิ่มทุนได้ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 560 ล้านบาท) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุน

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพอีกมากมายที่สามารถเพิ่มทุนได้ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เช่น ลาซาด้า บริษัทอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มทุนได้ 686 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) ในปี 2015 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับแกร็บแท็กซี่ที่สามารถเพิ่มทุนได้ 680 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) ในปีเดียวกัน


ขนาดยังห่างชั้นอูเบอร์

นูโตโนมีตั้งเป้าหมายจะให้บริการทั่วประเทศสิงคโปร์อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2018 อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบที่เข้มงวดและขนาดของประเทศสิงคโปร์คงยากจะเทียบขนาดธุรกิจอย่างอูเบอร์ หรือขนาดธุรกิจยานยนต์ไร้คนขับของกูเกิลและเทสล่ามอเตอร์ ในแง่ของการเพิ่มทุนหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

อูเบอร์กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย โดยการทดสอบดังกล่าวจะทำให้อูเบอร์ได้รับข้อมูลนำมาพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมากกว่าคู่แข่งจากสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับที่กำลังก้าวหน้า ส่งผลให้ยอดควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 7.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ 1.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.1 แสนล้านบาท) โดยมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นทั้งหมดมากกว่า 11 ครั้ง ในปี 2016 นี้

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล ระบุว่า ผู้บริโภคยังคงกังวลในแง่ของความปลอดภัยและความเชื่อถือยานยนต์ไร้คนขับอยู่ เนื่องจากยานยนต์ไร้คนขับยังไม่สามารถตัดสินใจในเชิงศีลธรรมและสัญชาตญาณได้เหมือนมนุษย์ ส่งผลให้บางส่วนมองว่ายังคงต้องใช้เวลาหลายปีกว่ายานยนต์ไร้คนขับจะเป็นที่แพร่หลาย ขณะที่ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ยานยนต์ไร้คนขับยากจะผ่านมาตรฐานของแต่ละประเทศ